Home Society ปรับตัวอย่างไร เมื่อวิกฤติน้ำ คุกคามโลก

ปรับตัวอย่างไร เมื่อวิกฤติน้ำ คุกคามโลก

by Lifeelevated Admin2

รายงานสถานการณ์น้ำของโลกชี้ให้เห็นว่าประชากรโลก 1 ใน 5 คน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ขาดแคลนน้ำดื่ม และประชากรครึ่งหนึ่งของโลกขาดแคลนน้ำสะอาดตามหลักสุขาภิบาล

ที่น่าตกใจมากกว่าก็คือประชากรมากกว่า 5 ล้านคนตายด้วยโรคที่เกิดจากน้ำไม่สะอาดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

สถาบันจัดการน้ำระหว่างประเทศ (IWMI) ประมาณการว่าปี ค.ศ. 2025 ประชากร 4 พันล้านคน ใน 48 ประเทศ (2 ใน 3 ของประชากรโลก) จะเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนน้ำ

ในขณะที่ธนาคารโลกประมาณการว่า 30 ปีข้างหน้า ประชากรครึ่งหนึ่งของโลก จะประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำหากยังคงมีการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยอย่างเช่นในปัจจุบัน

3 พันล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบ

องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานเผยเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 63 ว่า ประชากรประมาณ 1.5 พันล้านคนกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ทั้งจากการบริโภคน้ำที่ฟุ่มเฟือยและภัยแล้งเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและการจัดการที่ไม่ดี

แต่หากรวมประชากรทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ลดลง 1 ใน 5 ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีมากกว่า 3 พันล้านคน

ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหา “น้ำท่วม” กำลังกลายเป็นวิกฤติในอนาคต นิกเคอิเอเชีย รายงานผลการวิจัยของ “สถาบันทรัพยากรโลก” (WRI) โดยชี้ว่าหลายประเทศทั่วโลกกำลังจะต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและอุทกภัย

โดยมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสูงถึง 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030 หรือคิดเป็น 12% ของจีดีพีโลกขณะนั้น หากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินไปในระดับปัจจุบัน

หลายประเทศใน “เอเชีย” มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมสูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของเอเชียจะสูงถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของความเสียหายทั่วโลก และในกรณีที่ยังไม่มีมาตรการรับมือที่มีประสิทธิภาพ

โดย “จีนและอินเดีย” เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงที่สุด เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เหตุอุทกภัยมีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ขณะที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่ยังไม่มีระบบรับมือกับภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คาดว่าจีนมีความเสี่ยงที่จะต้องประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุน้ำท่วมสูงถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030 หรือ 14% ของจีดีพีเลยทีเดียว

ขณะที่การเกษตรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนหลายพันล้านคนต้องเผชิญกับความอดอยากและการขาดแคลนอาหารเรื้อรังอย่างกว้างขวางอันเป็นผลมาจากความล้มเหลวในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

Qu Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า “เราต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการสร้างความสมดุลของแหล่งน้ำจืดและการขาดแคลนน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่เพียงพอ ภาคการเกษตรต้องได้รับการแก้ไขทันทีและกล้าหาญด้วยการปรับปรุงแนวทางการทำฟาร์มทั่วโลกและจัดการทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน”

รายงานจากองค์กร State of Food and Agriculture ประจำปี 2020 พบว่า 50 ล้านคนในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราต้องเผชิญกับภัยแล้งขั้นรุนแรง ส่งผลร้ายแรงต่อพื้นที่เพาะปลูกทุกๆ 3 ปี ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 1 ใน 10 ของโลกต่างต้องเผชิญกับภัยแล้งบ่อยครั้ง เนื่องจากการเกษตรส่วนใหญ่ 60% พึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก แต่การเกษตรที่เหลือแม้จะได้รับน้ำจากการชลประทานก็ใช่ว่าจะไม่ประสบปัญหา เพราะมากกว่า 60% ของพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำเหมือนกัน

สำหรับประเทศไทยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เผชิญปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่เพียงพอ ปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรมและปนเปื้อนสารพิษอันมีสาเหตุมาจากชุมชนเมือง รวมทั้งอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้น การเพิ่มของประชากรส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น

ชูแนวคิด “เกษตร” ใช้น้ำน้อย

การเกษตรในร่ม หรือ Indoor Farming กลายเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของภาคการเกษตรที่ค่อยๆ มีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในโลกและในไทย

การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ เป็นรูปแบบการเกษตรที่นอกจากจะช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรน้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก และแรงงานแล้ว ยังช่วยควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ เป็นรูปแบบการเกษตรภายในโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช

Indoor Farming ช่วยลดความผันผวนในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ดีกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ดี การเกษตรแบบใหม่นี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า โดยเฉพาะการลงทุนระบบและเทคโนโลยีการเพาะปลูก ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรแบบ Indoor Farming ส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่ให้กำไรสูง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะเวลาสั้น เพื่อเพิ่มความถี่ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและขายสู่ตลาดได้หลายรอบ

Economic Intelligence Center (EIC) วิเคราะห์ว่า การเกษตรแบบ Indoor Farming ในไทย ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ด้วยปัจจัย 3 ข้อ คือ

  1. การเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มทายาทเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ที่หันมาขยายการลงทุนในการเกษตรแบบ Indoor Farming
  2. เทรนด์ความปลอดภัยด้านอาหาร ต่อยอดสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีอยู่ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น
  3. การตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภค ซึ่งการเกษตรแบบ Indoor Farming เป็นการทำการเกษตรในสิ่งปลูกสร้างระบบปิด ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช จึงสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความปลอดภัยจากสารพิษได้

นอกจากนี้การที่ Indoor Farming เป็นรูปแบบการเกษตรที่สามารถเพาะปลูกที่ใดก็ได้ จึงช่วยลดระยะทางการขนส่งผักและผลไม้ไปสู่ร้านอาหารหรือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น ปัจจัยดังกล่าวช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จการเกษตรแบบใหม่ในเชิงพาณิชย์พาณิชย์ได้มากขึ้น ซึ่งข้อดีของสินค้าเกษตรแบบนี้ เช่น ปลอดภัยจากสารพิษ ประหยัดทรัพยากรในการเพาะปลูกโดยเฉพาะทรัพยากรน้ำจะช่วยทำให้ผู้คนหันมาสนับสนุนมากขึ้น

10 แนวทางประหยัดน้ำ

เรามีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูแล รักษา ทรัพยากรน้ำจืดที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ พอเพียง ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลของระบบนิเวศ และสมบูรณ์ต่อการนำมาใช้ประโยชน์ของมนุษย์ในอนาคต การประปาส่วนภูมิภาคจึงได้ออกมาให้คำแนะนำง่ายๆ ที่สามารถทำกันได้ทุกคน เพื่อช่วยชาติประหยัดน้ำ ดังนี้

  1. ใช้ฝักบัวอาบน้ำ ยิ่งรูฝักบัวเล็กก็จะช่วยประหยัดน้ำมากยิ่งขึ้น
  2. แปรงฟันโดยรองน้ำใส่แก้วไว้บ้วนปากหลังแปรงฟัน ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำได้
  3. ล้างผักผลไม้ด้วยชามรอง
  4. ใช้บัวรดน้ำต้นไม้แทนการใช้สายยางฉีด
  5. ดื่มน้ำไม่หมดควรนำไปรดต้นไม้หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนการเททิ้ง
  6. รองน้ำไว้ใช้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือรองน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ทั่วไป
  7. ซักผ้าในปริมาณมากๆ ต่อครั้งช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่า
  8. ใช้ถังรองน้ำเช็ดทำความสะอาดรถยนต์ ช่วยให้รถสะอาดและประหยัดน้ำดีกว่า
  9. ใช้ถังรองน้ำทำความสะอาดสิ่งของต่างๆ เช่น ถูบ้าน
  10. เช็ดคราบอาหารก่อนล้าง ช่วยลดปริมาณน้ำ ไม่สิ้นเปลือง

“วิกฤติน้ำ” แม้จะเป็นปัญหาระดับโลก แต่การแก้ไข..ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา

 

 

 

อ้างอิง

https://www.prachachat.net/columns/news-524310

https://bit.ly/3ndAXsI

https://bit.ly/3gyuZQI

https://bit.ly/2W2LwmD

https://www.salika.co/2020/12/02/world-water-crisis/

https://www.prachachat.net/world-news/news-570827

Related Articles

Leave a Comment