Home Society “วิกฤตรัสเซีย – ยูเครน” โลจิสติกส์พุ่ง 25%! ไทยเตรียมรับมือไว้ ลดผลกระทบได้

“วิกฤตรัสเซีย – ยูเครน” โลจิสติกส์พุ่ง 25%! ไทยเตรียมรับมือไว้ ลดผลกระทบได้

by Lifeelevated Admin1

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงให้ค่าขนส่งทางเรือกลับมาพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงเบี้ยประกันความเสี่ยงสงคราม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมในฟิลิปปินส์คาดว่า ค่าขนส่งทางเรืออาจเพิ่มขึ้นมากถึง 25% และน่าจะทรงตัวสูงไปจนถึงสิ้นปี 2565

โดยประธานสมาคมการขนส่งทางเรือของฟิลิปปินส์ (Philippine Liner Shipping Association: PLSA) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent crude) อยู่ที่ประมาณ 130 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 80 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรลเมื่อต้นปี ซึ่งปกติน้ำมันเชื้อเพลิง 40 – 50% ถือเป็นต้นทุนของเรือ ทำให้สมาคมฯ คาดการณ์ว่าค่าขนส่งทางเรือจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15 – 25%

 

สถานการณ์รัสเซีย – ยูเครน สำคัญกับ ผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างไร?

ถึงแม้ประเทศไทยจะอยู่ห่างไกลจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ในยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลกถูกเชื่อมโยงด้วยการค้า วิกฤตความขัดแย้งในครั้งนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ออกมาเตือนผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับวิกฤตความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนว่า สำหรับไทยนั้นรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญและเป็นชาติเป้าหมายที่ไทยต้องการขยายความสัมพันธ์ทั้งด้านการค้าการลงทุน เพราะเป็นประตูที่จะขยายการค้าไปสู่กลุ่มประเทศภูมิภาคยูเรเซีย

ขณะที่ยูเครน ประเทศไทยก็มีการส่งออกมูลค่ารวม 134.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นส่วนของผู้ประกอบ SME จำนวน 15.10  ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30% สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการประกอบการเพิ่มสูงขึ้น

โดยปีที่ผ่านมา กลุ่ม SME มีการส่งออกสินค้าไปรัสเซียและยูเครนอยู่ในอันดับที่ 29 และอันดับที่ 70 ตามลำดับ สินค้าส่งออก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับเทียม ผลไม้สดและแปรรูป ข้าวและธัญพืช โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร แม้ว่าโดยภาพรวมยังไม่เห็นผลกระทบทางตรงที่ชัดเจนนัก นอกเหนือจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการกว่า 565 ราย ที่มีการส่งออกไปยัง 2 ประเทศ ต้องเตรียมการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ตั้งแต่การส่งออกสินค้า การค้าการลงทุนที่จะชะลอตัว

ขณะที่การนำเข้าสินค้าทั้งด้านวัตถุดิบ ด้านการเกษตรและพลังงานจะยากลำบากขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกลุ่ม SME จะได้รับผลกระทบด้านราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบทั้งด้านเกษตร ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อค่าขนส่งและต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

 

สายเรืองดรับสินค้าเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากนี้ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศที่จะกระทบ Global Supply Chain ยังต้องจับตามองผลกระทบจากค่าระวางเรือที่จะเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสายเรืองดเดินเรือในเส้นทางรัสเซีย – ยูเครน และบริษัทประกันภัยไม่รับประกันการขนส่งสินค้าในเส้นทางนี้เช่นกัน ทำให้ต้องพิจารณาใช้เส้นทางทางบกหรือระบบราง โดยต้องขนส่งผ่านประเทศอื่นๆ เพื่อเข้าไปยังรัสเซียและยูเครน

ซึ่งเรื่องนี้ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สายการเดินเรือหลายบริษัทเริ่มงดรับสินค้าไปยังเส้นทางประเทศยูเครนและรัสเซีย ทำให้การขนส่งสินค้าเส้นทางนี้และเส้นทางทั่วไปในยุโรปเกิดความไม่แน่นอน รวมถึงความลำบากในการจัดสรรเรือในเส้นทางดังกล่าว

ที่สำคัญหลังจากการปรับเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้าเข้ายุโรป ทำให้ปัญหาการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มชะลอตัวมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการปิดเส้นทางเดินเรือเข้ารัสเซีย ทำให้เกิดปัญหาแออัดของท่าเรือขนส่งสินค้ามากขึ้น ต้องใช้เวลาขนถ่ายยาวนานขึ้น บวกกับปัญหาการหมุนเวียนขนส่งสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ตู้รายใหญ่ก็ยังมีความแออัด เนื่องจากนโยบายป้องกันโควิด 19 ของจีน ทำให้การตรวจสอบล่าช้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้พยายามเพิ่มปริมาณซัพพลายตู้คอนเทนเนอร์ในตลาดโลก ด้วยการต่อเรือขนส่งสินค้าเข้ามาเสริมในระบบมากขึ้น แต่การต่อเรือต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีเรือมาให้บริการมากขึ้นได้ช่วงปลายปี 2566 หรือในปี 2567

สรท. จึงส่งสัญญาณเตือนว่า ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือปัญหาค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผลกระทบทางตรงจากสงครามที่มีผลต่อราคาน้ำมัน แม้ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงจาก 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 100 – 105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังไม่สามารถทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงได้ และยังมีผลต่อเส้นทางเดินเรือที่เอกชนต้องวางแผนและเจรจากับผู้นำเข้าล่วงหน้า ถือเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้า

ส่วนผลกระทบในระยะกลางและระยะยาวประเมินว่า จะเกิดผลกระทบด้านโลจิสติกส์ โดยอาจเกิดภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ จึงขอเสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาจัดทำ Transit Agreement กับประเทศจีน และให้ศึกษาการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีของสหภาพยูเรเซีย เพื่อพิจารณาเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าใหม่

 

ตู้คอนเทนเนอร์หายไปไหน ทำไม? ถึงขาดแคลน

สำหรับภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด 19 ระบาด เกิดจากปัจจัยหลักคือการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ที่ลดลง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและปัญหาขาดแคลนแรงงานในท่าเรือ ทำให้การหมุนเวียนตู้สินค้าไม่เป็นไปตามต้องการ และมีตู้สินค้าตกค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันตู้คอนเทนเนอร์กว่า 90% ถูกผลิตในประเทศจีน

เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าในปี 2019 ทำให้สหรัฐอเมริกาลดการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ลง 40% และหลายฝ่ายกังวลว่าการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ ไปยังจีนจะลดลงมากขึ้น ซึ่งเมื่อย่างเข้าสู่ปี 2020 การระบาดของโควิด 19 ทำให้การผลิตตู้สินค้าจากสหรัฐฯ ลดจำนวนลงไปอีก กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง ต่อการค้าระหว่างประเทศที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยวิกฤตปัญหาด้านซัพพลายเชนและระบบโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นทั้งขาดพื้นที่ในเรือ อัตราค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังจะฟื้นตัว ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ขนส่งเพิ่มสูงขึ้นมาก

 

วางแผนรับมือโลจิสติกส์ ป้องกันผลกระทบส่งออกไทย

กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียกับยูเครน เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียและยูเครน โดยขณะนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เตรียมมาตรการไว้แล้วคือ

  1. ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
  2. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมประสานและเผยแพร่รายชื่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS)
  3. ร่วมมือกับสมาพันธ์สมาคมด้านโลจิสติกส์ ในการอำนวยความสะดวกหากพบปัญหาด้านโลจิสติกส์ โดยสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก จะคอยรายงานความคืบหน้า

 

ด้านประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตือนว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรระวัง คือเรื่องการชำระเงินและรับคำสั่งซื้อ ซึ่งอาจเกิดความล่าช้าในการชำระเงินมากกว่าปกติ รวมถึงอาจพิจารณาไปใช้ช่องทางอื่นในการรับชำระเงิน เช่น การชำระเงินผ่านระบบ SWIFT กับธนาคารในประเทศรัสเซียที่ไม่ถูก Sanction การชำระเงินผ่านระบบ CIPS ของจีน หรือการชำระเงินผ่านประเทศที่สาม

 

โดยผู้แทนหอการค้าไทย ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเตรียมรับมือในส่วนนี้แล้ว โดยประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูป กลุ่มผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะเครื่องสำอางและอัญมณี ที่รัสเซียเป็นลูกค้ารายใหญ่และตลาดกำลังเติบโต

 

          สรุปได้ว่าแม้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจบ้านเราสามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ดังนั้นผู้ส่งออกไทยควรเตรียมรับมือปัญหาค่าระวางเรือ ที่มีแนวโน้มราคาที่สูงขึ้นและคำสั่งซื้อใหม่น่าจะชะลอตัวลงด้วย รวมทั้งการส่งออกสินค้าอาจต้องใช้เวลาส่งมอบนานขึ้น

             ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SME ไทยควรวางแผนและเจรจากับผู้นำเข้าล่วงหน้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารที่เน่าเสียได้ง่ายหรือสินค้าที่ต้องการเก็บรักษาและดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประสานคู่ค้า เพื่อช่วยในการติดต่อประสานงานในท่าเรือก็จะช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @Lifeelevatedclub

Blog สสส.: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment