Home Mind เทคนิครับมือ Doomscrolling อาการเสพข่าวลบ ส่งผลกระทบจนจิตแย่

เทคนิครับมือ Doomscrolling อาการเสพข่าวลบ ส่งผลกระทบจนจิตแย่

by Lifeelevated Admin1

ธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะสนใจใครรู้กับเรื่องร้าย ๆ มากกว่าเรื่องดี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องของคนอื่น จะตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นในส่วนนี้ได้ดีเป็นพิเศษ ที่นิสัยชอบเสพข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ก็เพราะว่าข่าวดีมักจะจบในตัวเอง แต่ข่าวร้ายที่ไม่จบลงง่าย ๆ จะทำคนเรารู้สึกสงสัย เมื่อสงสัยก็พยายามตามติด ตามต่อ พยายามจะมีส่วนร่วม มันมีอะไรให้ลุ้นมากกว่าข่าวดี ที่สำคัญ ข่าวร้ายมักจะเป็นข้อมูลที่ช่วยเรื่องการเตรียมพร้อม ง่าย ๆ ก็คือถ้าคุณพลาดเรื่องดี คุณจะไม่เสียหายเท่าไร แต่ถ้าคุณพลาดเรื่องร้ายจนไม่ทันได้ระวังตัว คุณอาจเสียหายมากกว่าที่คิด นี่คือสัญชาตญาณระวังภัยของมนุษย์!

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยพัฒนาการสื่อสารของมนุษย์ให้เป็นไปอย่างไร้พรมแดน ทลายข้อจำกัดในการสื่อสารหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราได้รับรู้ข่าวร้ายจากทั่วทุกมุมโลกแทบจะเรียลไทม์ การมาของโซเชียลมีเดียทำให้สังคมของมนุษย์ใหญ่ขึ้น การเสพข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่สะดวกและง่าย ทุกวันนี้หลาย ๆ คนเสพข่าวต่าง ๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อกระแสหลัก รับรู้ความเป็นไปของโลกผ่านจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ถือติดมือ และเปรียบการใช้โซเชียลมีเดียเหมือนกับการกินข้าวที่ต้องกินทุกวัน แต่…ถ้าเรากินข้าวเยอะเกินไป หรือกินอาหารบูด อาหารเสีย กินไม่เลือก ร่างกายก็จะรับของไม่ดีเกินลิมิต มันก็จะเป็นผลเสียต่อร่างกายได้

โซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์มีประโยชน์มากก็จริง แต่ถ้าเราตกเป็นเครื่องมือของมันและยอมให้มันควบคุมเราโดยสมบูรณ์ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี การใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์นาน ๆ อาจทำให้เรารู้สึกกังวลและตื่นกลัวกับโลกแห่งความเป็นจริงมากเกินไป จากการที่เรามักจะเอาสิ่งที่เห็นบนโลกออนไลน์มาใช้อธิบายโลกแห่งความจริง หรือเก็บเอาทุกสิ่งที่ได้เห็นไปตีความหรือจินตนาการต่อ จนกระทบกับอารมณ์และความพอใจในการใช้ชีวิตของตัวเอง

เมื่อเราเสพแต่เรื่องราวแย่ ๆ ร้าย ๆ เสมอ นำไปสู่อาการคิดว่าโลกแห่งความเป็นจริงก็เต็มไปด้วยเรื่องเลวร้ายและน่ากลัวได้เหมือนกัน เกิดความคิดในเชิง “โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน” “โลกนี้ช่างโหดร้าย” เราจึงมีแนวโน้มที่จะเสพแต่เรื่องลบ ๆ เพื่อสนองการระแวดระวังภัย อาการนี้เรียกว่า Mean World Syndrome เป็นอาการขั้นต้นก่อนเกิดอาการ Doomscrolling

 

Doomscrolling คืออะไร

Doomscrolling คือพฤติกรรมที่เราเสพติดการเสพข่าวร้ายที่ชวนให้รู้สึกหดหู่ เสพจนไม่สามารถมูฟออน บางครั้งเราก็สามารถตามข่าวเดียวแทบจะในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจะดูว่าแต่ละแพลตฟอร์มนำเสนอไปในทิศทางไหน ช่องทางไหนอัปเดตมากกว่ากัน เป็นอาการที่เรายอมอดหลับอดนอนจนขอบตากลายเป็นหมีแพนด้าเพื่อที่จะได้รู้ความเป็นไปของข่าวร้ายที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในเวลานั้น จะได้ไม่ตกข่าว และอาจตื่นหนกไปถึงการเตรียมพร้อมรับมือหากภัยนั้นมาถึงตัว

Doomscrolling มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำผสมกัน คำว่า Doom แปลว่า “หายนะหรือเคราะห์กรรม” และคำว่า Scrolling แปลว่า “การเลื่อน” คำนี้กลายเป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมของคนที่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็กข่าวร้ายหรือข้อมูลเชิงลบในโซเชียลบ่อย ๆ พวกข่าวอาชญากรรมความรุนแรง คดีฆาตกรรม คลิปนาทีชีวิต ข่าวการสูญเสีย แม้กระทั่งการหาดูภาพศพของคนอื่น ทั้งที่มันไม่ได้น่าดูและสร้างความสะเทือนใจไม่น้อย แต่ก็ขอให้ได้ดูเพื่อที่จะได้เข้าถึงความรู้สึกในเชิงศีลธรรม ความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ สะเทือนใจของตนเองที่มีต่อเหตุการณ์นั้น

นั่นทำให้ Doomscrolling ซึ่งเป็นคำศัพท์สแลงสมัยใหม่ กลายเป็นคำศัพท์ประจำปี 2020 ที่ถูกบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดไปเสียแล้ว ยิ่งในช่วงที่มีโรคระบาดแพร่ระบาดไปทั่วโลก คนทั้งโลกล้วนหันมาสนใจข่าวโรคระบาด และตื่นกลัวไม่น้อย พฤติกรรม Doomscrolling จึงสามารถบั่นทอนสุขภาพจิตของเราได้ในระยะยาว โดยที่เราอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าสภาพจิตของตัวเองกำลังแย่ลงที่ละนิด ๆ พฤติกรรมที่เสพติดการเลื่อนอ่านข่าวร้ายจะค่อย ๆ กัดกินสุขภาพจิตของเราไปเรื่อย ๆ คนที่ใช้เวลาอยู่กับข่าวร้ายเป็นเวลานาน ๆ อาจจะรู้สึกดิ่งไปเลยก็มี

 

ผลของ Doomscrolling ต่อสุขภาพจิต

Doomscrolling ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้เสพข่าวรู้สึก “ดิ่ง” ตามอารมณ์ของข่าวสารที่เสพเท่านั้น แต่ยังมีอาการที่ “เลิกอ่านไม่ได้” ด้วย คือมันไม่ใช่อาการติดมือถือหรือติดโซเชียลมีเดียธรรมดา ๆ เพราะมันถึงขั้นหมกมุ่นและอินจัดจนแบบที่หลุดเข้าไปในหลุมดำของเนื้อหาข่าวที่ชวนให้ไม่สบายใจนั้นได้เลย ข่าวร้ายที่เราตามทั้งวี่ทั้งวันอาจทำให้เราหลอนจนนอนไม่หลับ หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาเพราะเรื่องนั้นวนเวียนอยู่ในหัว อาจเก็บไปฝันร้ายได้

 

การที่เราไม่สามารถมูฟออนจากข่าวร้าย ๆ แย่ ๆ พวกนั้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของเครื่องมือของโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็คือ AI และ Algorithm ที่พอจับพฤติกรรมของเราได้ว่าเรากำลังสนใจเรื่องไหนข่าวไหนอยู่ มันก็จะสุ่มเอาเรื่องหรือข่าวประเภทเดียวกันขึ้นมาแนะนำให้เราตามต่ออีกมากมาย เพียงแค่เราเริ่มต้นอ่านข่าวหรือดูวิดีโอประเภทนี้เท่านั้น เราก็จะเห็นมันเต็มหน้าฟีดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ขึ้นแนะนำมาให้ตามต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจเวลาว่ามันผ่านไปนานแค่ไหนแล้ว

พฤติกรรม Doomscrolling นี้จึงเป็นมากกว่าการเสพติดข่าวในเชิงลบ เนื่องจากยังครอบคลุมถึงพฤติกรรมที่เราเสพติดการใช้โซเชียลมีเดียในเวลาเดิม ๆ อย่างช่วงก่อนนอน ทั้งที่ได้เวลาที่ต้องนอนแล้ว แต่สมองเรากลับเคยชินกับการไถฟีดโซเชียลมีเดียเพื่ออ่านข่าวต่าง ๆ ก่อนนอน พยายามจะรีเฟรชเพื่อให้ข่าวอัปเดตใหม่ที่สุดก่อนถึงจะยอมนอน ตื่นมาก็ต้องอัปเดตข่าวนั้นต่อเนื่อง

ปัจจัยที่ทำให้เราเสพติดการเสพข่าวเชิงลบ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ข่าวประเภทนี้มันกระตุ้นต่อมเผือกในตัวเรา รู้สึกว่าน่าตื่นเต้นที่จะได้รู้ข่าวพวกนี้ กลัวที่จะพลาดอะไรที่อัปเดตไปแล้วจะไปคุยกับใครไม่รู้เรื่อง ซึ่งเราจะสามารถสังเกตตัวเองได้ง่าย ๆ ว่ากำลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย Doomscrolling หรือไม่ คือ สังเกตระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตของตัวเองที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก อยู่บนโลกออนไลน์นานขึ้น และทุกครั้งที่ได้ตามข่าวเชิงลบ ก็จะสัมผัสได้ถึงอารมณ์อินจัดจนฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดไปพร้อมกับข่าว เริ่มปฏิเสธการรับสารอีกด้าน เริ่มแยกข้อเท็จจริงและความคิดเห็นไม่ได้

พฤติกรรมนี้จะทำให้เราหมดเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเข้าไปอยู่ในวงจรการเสพข่าวที่น่าหงุดหงิด ความรู้สึกที่ดิ่งจากการเสพข่าวลบ ๆ จะเข้มข้นมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต รู้สึกสิ้นหวัง ไร้อำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโลกใบนี้ นี่เป็นสัญญาณว่าจิตเรากำลังป่วย และสุขภาพใจของเรากำลังจะพังลงในเร็ววันนี้

อย่างไรก็ดี การหลุดพ้นจากวงจรนี้เราสามารถทำได้ โดยเราต้องเป็นคนเริ่มควบคุมตนเอง ควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดีย จำกัดการเสพข่าวลบ ๆ เพราะจริง ๆ แล้วเราสามารถเลือกได้เองว่าเราจะเสพข่าวประเภทไหน จะอ่านข่าวร้ายชวนหดหู่อยู่ตลอดเวลา จะอ่านแต่ดราม่าที่มีคนตีกัน ด่าทอกันเต็มคอมเมนต์ หรือจะหันไปเสพอะไรสวย ๆ งาม ๆ ที่ดีต่อใจ มันอยู่ที่วิจารณญาณของเราทั้งสิ้น และระบบการทำงานของโซเชียลมีเดียก็จะเรียนรู้เองว่าเราเข้าชมคอนเทนต์แบบไหนบ่อย ๆ ถ้าเราเพลา ๆ การเสพข่าวร้ายลง มันก็จะแนะนำให้เราเห็นน้อยลงเช่นกัน

 

การพลาดข่าวสารอะไรบางอย่างไปบ้าง ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนโง่

การได้เผือกเรื่องของคนอื่นนับว่าเป็นความบันเทิงใจอย่างหนึ่ง หลัก ๆ คือมันช่วยยืนยันว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีฉันที่แย่อยู่คนเดียว ได้รับรู้ว่าคนอื่นก็ทุกข์ไม่ต่างจากฉันหรือมากกว่าฉัน นอกเหนือไปจากการที่เรากลัวว่าถ้าเราไม่รู้เรื่องนี้ เราจะคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง จึงพยายามอัปเดตเรื่องราวต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นกระแสสังคมที่คนจำนวนมากกำลังตามติด การตามติดคดีดัง ต้องรู้ข่าวก่อนใครอื่นเพื่อจะได้ตั้งตัวเป็นคนกระจายข่าวต่อ แล้วคอนเทนต์นั้น ๆ ก็จะได้รับความสนใจจากมวลชน ถูกกดไลก์ กดแชร์ และคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นมากมาย

อาการดังกล่าวเรียกว่า FOMO ย่อมาจาก Fear Of Missing Out ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกกลัวว่าตนเองจะพลาดหรือตกกระแสอะไรไป โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น จากการที่เห็นโพสต์ของคนอื่น แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยจะยิ่งรู้สึกว่าพลาดมาก ๆ ถ้าไม่ติดตามสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ความจริงแล้วการพลาดข่าวสารบางอย่างไปบ้างก็ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนโง่แต่ประการใด หากการลด ละ เลิก เสพข่าวลบ ๆ ลงบ้างจะทำให้สุขภาพจิตเราดีขึ้น มันก็น่าที่จะทำ

ทว่ากับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคนบางกลุ่มที่ลักษณะของงานบังคับให้ต้องติดตามข่าวสารและอัปเดตเรื่องต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ เช่น นักข่าว คนทำคอนเทนต์ นักการตลาด คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะเกิดอาการกลัวการตกข่าวและต้องติดตามข่าวสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเหมือนคนที่ถูกสาป ถ้าตกหล่นอะไรสักอย่างไปก็จะรู้สึกกระวนกระวายและวิตกกังวลมาก เพราะมันมีผลกระทบต่องานที่ทำ

 

ลด ละ เลิก ไปบ้าง ดีต่อจิตใจมากกว่า

การที่เรารู้สึกว่าโลกใบนี้มันอยู่ยากขึ้น เราจึงพยายามเกาะติดข่าวร้ายต่าง ๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา สื่อก็พยายามจะเผยแพร่ข่าวสารในด้านนี้ให้กับผู้ชมมากขึ้นเพราะมันขายได้ เราก็เลยยิ่งเจอแต่ข่าวในแง่ลบมากมายเต็มไปหมด เลื่อนอ่านข่าวแทบไม่เจอเนื้อหาที่จรรโลงใจเลย ไม่เพียงแต่ข่าวร้ายที่มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจคนเรา แต่พวกโพสต์ทั่วไปของคนที่มักจะอวดชีวิตดี ๆ ของตนเอง ก็อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบชีวิตเราชีวิตเขาเหมือนกัน รู้สึกเครียด วิตกกังวล นำไปสู่ความรู้สึกที่ย่ำแย่และความพึงพอใจในตัวเองก็ต่ำลงได้เช่นกัน

 

ดังนั้น หากรู้สึกว่าตนเองกำลังย่ำแย่ จิตตก กับการเสพข่าวร้าย ๆ แย่ ๆ มากเกินไป ตั้งใจที่จะลดพฤติกรรม Doomscrolling ของตนเอง ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้

 

  1. การติดตามข่าวเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราไม่จำเป็นจะต้องติดตามตลอดเวลา ต้องรู้จักที่จะพักการใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่ออ่านข่าว แบ่งเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นที่จรรโลงใจมากกว่า รู้จักที่จะเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อรู้ว่าตนเองกำลังถูกข่าวร้ายพวกนั้นคุกคามชีวิต
  2. เข้มงวดต่อตารางเวลาของตัวเอง แบ่งเวลาเป็นช่วง ๆ ที่จะอนุญาตให้ตัวเองอ่านข่าว เพื่อไม่ให้ตัวเองเสพข่าวแย่ ๆ ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงกลางคืนหรือก่อนเข้านอนที่ต้องงดไปเลย เพราะข่าวร้ายจะทำให้รู้สึกอ่อนไหวหรือมีอารมณ์ร่วมได้มากกว่าเวลากลางวัน ซึ่งจะมีผลต่อการนอนหลับ อาจทำให้นอนไม่หลับ ฝันร้าย ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ
  3. ห่างจากโทรศัพท์มือถือบ้าง หากิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำเพื่อลดการใช้เวลาไปกับโทรศัพท์มือถือ ปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตบ้างตามช่วงเวลาที่กำหนด และไม่จำเป็นต้องพกมือถือติดตัวในบางช่วงเวลา
  4. เลือกแหล่งข่าวที่ติดตาม การเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียทำให้เราได้รับข่าวสารต่าง ๆ อย่างไม่จำกัด และหากเรากดติดตามแหล่งข่าวเอาไว้หลายแหล่ง มันก็จะขึ้นข่าวเดียวกันมาให้เราเห็นอย่างล้นหลาม ดังนั้น คัดเลือกแหล่งข่าวที่จะกดติดตามไว้เพียงบางแหล่งก็พอ จะช่วยลดการมองเห็นข่าวสารที่บั่นทอนสุขภาพจิตลง เลิกติดตามช่องที่จงใจเสนอข่าวแบบดราม่าหนัก ๆ ไปเลยยิ่งดี เพราะมันไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรให้กับเรามากนัก เมื่อเทียบกับแหล่งข่าวที่นำเสนอเพียงข้อเท็จจริง นอกจากสร้างกระแสดราม่า
  5. อย่าตกเป็นเครื่องมือสื่อโซเชียลมีเดีย เพราะเราสามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับสารใด ไม่จำเป็นต้องกดอ่านทุกข่าว ต้องตระหนักด้วยตนเองว่าเนื้อหาข่าวสารประเภทใดที่กระทบต่อสุขภาพจิตของตนเอง จงหลีกเลี่ยง
  6. อย่าใช้ข่าวร้ายเป็นแหล่งข้อมูลหลัก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่ทำให้เราเจอเรื่องหดหู่อยู่ทุกวันอยู่แล้ว ในเมื่อเรามีสิทธิ์เลือก ก็ต้องเลือกแหล่งข้อมูลและประเภทเนื้อหาที่ที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์มากกว่าที่จะตามข่าวร้ายเท่านั้น อย่าปล่อยให้ตัวเองดำดิ่งไปกับข่าวแย่ ๆ จนบั่นทอนสุขภาพจิต หาแหล่งข่าวที่ดีต่อใจมาถ่วงไว้ให้เท่า ๆ กัน
  7. หยุดการจินตนาการถึงเรื่องราวที่เกินจริงและยังไม่เกิด สมองของเรามักจะจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้หลังหมกมุ่นอยู่กับข่าวร้ายมานาน ต้องมีสติที่จะตื่นรู้
  8. ใช้ชีวิตให้ช้าลง ใช้สติและสมาธิในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเสพข่าว พยายามอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งคิดมากคิดเยอะ ต้องรู้ว่าตัวเราไม่สามารถควบคุมได้ทุกเรื่อง เรื่องไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แต่เราสามารถควบคุมตัวเองได้

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @Lifeelevatedclub

Blog สสส.: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment