Home Creativity ความคิดสร้างสรรค์ เริ่มต้นตอนเรา “แหกกฎ”

ความคิดสร้างสรรค์ เริ่มต้นตอนเรา “แหกกฎ”

by Lifeelevated Admin2

ไม่แค่ศิลปิน ทุกๆ อาชีพก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดออกนอกกรอบ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนภารกิจไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ ตลอดจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่ง

ส่วนใหญ่แล้วคนเราทำงานช่วง 08.00 – 18.00 น. และมักได้รับการคาดหวังว่าความคิดสร้างสรรค์ของเราจะลุกโชนหรือถูกกระตุ้นให้ระเบิดออกมาในช่วงเวลานั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้คำนึงถึงเข็มนาฬิกา ไม่ได้อยู่ในกรอบที่ถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และมักจะปรากฏขึ้นเมื่อเราผ่อนคลายมากกว่าตอนที่เรากดดันอย่างหนัก

พฤติกรรมที่ส่งเสริมหรือเร่งเร้าความคิดสร้างสรรค์ได้ดี ก็คือ อย่าคิดว่าความคิดสร้างสรรค์จะต้องเป็นต้นแบบเท่านั้น เพราะความคิดสร้างสรรค์ของคนเรามักจะได้รับแรงบันดาลใจ ต่อยอดหรือเรียนรู้มาจากคนอื่นด้วยกันทั้งสิ้น ทุกคนล้วนมีครูด้วยกันทั้งนั้น สำคัญที่ว่าจะเลือกยึดแบบอย่างจากใคร ที่สำคัญอีกประการก็คือ ให้ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง เพราะจะทำให้สมองได้ใคร่ครวญไม่ใช่ปล่อยให้ตัวเองเออออห่อหมกไปกับทุกเรื่อง นอกจากนี้ต้องหมั่นสังเกตการณ์ ใช้ประสาทสัมผัสกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อเก็บข้อมูลและนำมาประมวลผลให้เกิดประโยชน์ให้ได้ ทั้งยังต้องเปิดรับประสบการณ์ต่างๆ ให้มากที่สุด อย่าจมจ่อมอยู่กับความซ้ำซากจำเจ รวมถึงต้องแสวงหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ สรรหาอ่านเรื่องราวต่างๆ ที่ปกติแล้วเราไม่ได้อ่านเป็นประจำ เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และที่อยากให้ลองคิดและลองทำกันดูก็คือ “แหกกฎ” บ้าง ให้อิสระตัวเองในการคิดและทำอะไรที่ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดิมๆ

Boston Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการของสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่เปี่ยมล้นไปด้วยนวัตกรรม มักจะมีคุณลักษณะเหมือนกันหลายประการ โดยเฉพาะความกล้าที่จะเสี่ยง ยินดีที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับความริเริ่มส่วนบุคคล (Personal Initiative) ตัดสินใจและดำเนินการอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความสามารถในการชี้ชัดถึงความแตกต่างที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จในธุรกิจ

ดังนั้น จะว่าไปแล้ว นวัตกรก็คือนักแหกกฎดีๆ นี่เอง เพราะการทำอะไรภายใต้เงื่อนไขและกฎเกณฑ์เดิมๆ ยากนักที่จะสร้างผลงานที่เป็นนวัตกรรมได้ โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหม่ในตลาด หากเดินเกมตามรอยผู้เล่นรายเดิม โอกาสที่จะแจ้งเกิดก็ริบหรี่ ไม่ต้องดูอื่นไกล “สายการบินต้นทุนต่ำ” ที่สร้างเซ็กเมนต์ใหม่ขึ้นมาได้ เพราะคิดใหม่ ทำใหม่ พร้อมกับท้าทายและยิ่งส่วนแบ่งการตลาดจากสายการบินฟูลเซอร์วิส

ปลดปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ให้ตัวเอง

สำหรับใครหรือผู้นำองค์กรไหนที่อยากจะปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองหรือพนักงานให้แตกซ่านมากกว่าเคย Mark Wilson นักเขียนอาวุโสแห่ง Fast Company นำเสนอแง่คิด / แนวทางจากประสบการณ์ส่วนตัวที่น่าสนใจ ดังนี้

เนื่องจากพวกเราหลายคนทำงานในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย เต็มไปด้วยการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ไหนจะประชุมแบบถี่ยิบ ไหนจะ Social Distraction ต่างๆ ที่ขัดขวางสติและสมาธิ ทำให้เราวอกแวกตลอดทั้งวัน ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ของเรามีแนวโน้มที่จะพรายพุ่งขึ้นมา ในช่วงที่อยู่นอกเหนือเวลาการทำงานอันยาวนาน และเมื่อความยุ่งเหยิงเหล่านั้นถูกปลดเปลื้องออกไป

การที่เราใส่ใจและยึดติดกับเดดไลน์ตั้งแต่แรก ทำให้เกิดการบีบคั้น และทำให้เราเกิดความกลัวหรือกังวลว่าจะทำไม่ได้ตามสัญญาที่ให้ไว้ เมื่อความลนลานคืบคลานเข้ามา ความวิบัติจะไปไหนเสีย เราอาจหลงลืมไปว่างานที่ทำไม่ใช่กรอกข้อมูลลงในเอ็กซ์เซล หรือบวก ลบ คูณ หาร แล้วได้ผลลัพธ์ที่ต้องการเลย เพราะความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่แน่นอน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นความคิดที่ดีเด็ดอยู่แล้วเชียว แต่อีกวันหนึ่งกลับพบว่ามันแตกหน่อต่อยอดเป็นอีกเวอร์ชั่นที่อลังการงานสร้างและยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเดิม นั่นหมายความว่าหากเราให้เวลากับมันเพียงพอ ก็จะได้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีกว่าเดิม

ในขณะที่เราต้องการให้งานของเราบรรลุผลในระยะเวลาที่แน่นอน แต่การบีบคั้นด้วยเดดไลน์ที่ไม่คำนึงเงื่อนไขและปัจจัยอื่น ยิ่งทำให้โอกาสที่ความคิดสร้างสรรค์ของเราจะเบ่งบานได้ตามช่วงจังหวะและเวลาที่เหมาะที่ควรน้อยลงไปอีก

การอะลุ้มอล่วย และผ่อนปรนในเรื่องเงื่อนเวลาที่ไม่บีบบังคับจนเกินไป ไม่กำหนดเดดไลน์แบบไร้สติ หรือเร่งรัดเกินกว่าสถานการณ์จริงที่ควรจะเป็น หรือไม่นำเดดไลน์เพียงอย่างเดียวมาเป็นตัวชี้วัดผลงานมากไปกว่าผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานที่แท้จริง น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

Mark บอกว่าคนเรามีความสามารถตามสัญชาตญาณโดยธรรมชาติในการที่จะ “รู้สึก” ว่าเมื่อใดควรจะหยุด ตอนไหนที่ควรจะชะลอ และเมื่อไหร่ที่ควรจะไปต่อ ความเป็นปัจจุบันขณะนี้เองที่จะสื่อสาร พูดคุยกับเราตลอดเวลา และบอกให้เรารู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาปัจจุบันอย่างไร เพื่อบำรุงงานของเราให้งอกงาม

ด้วยความสามารถของเราที่คำนึงหรือตระหนักถึงสภาวการณ์ปัจจุบันมากขึ้น จะช่วยให้เราพัฒนาและสรรค์สร้างผลงานของเราในจังหวะและกรอบเวลาที่เอื้้อและสนับสนุนการระเบิดไอเดียของเราได้ดีที่สุด เป็นปัจจุบันขณะที่สอดประสานได้ตรงกันหรือดำดิ่งไปกับมันได้เป็นอย่างดี

 

 

 

อ้างอิง

https://bit.ly/39vS6tO

https://www.posttoday.com/life/healthy/550424

https://bit.ly/3lqBxlg

https://www.salika.co/2020/07/15/how-to-be-more-creative-break-the-rule/

https://www.novabizz.com/NovaAce/Intelligence/Creative_Thinking.htm

https://bit.ly/33yGtOV

Related Articles

Leave a Comment