Home Creativity Creative Economy ดิสรัปต์สู่ดิจิทัล ครีเอเตอร์ยุคใหม่ จึงต้องรู้จัก ‘NFT’

Creative Economy ดิสรัปต์สู่ดิจิทัล ครีเอเตอร์ยุคใหม่ จึงต้องรู้จัก ‘NFT’

by Lifeelevated Admin1

ในยุคที่เพลง ภาพวาด งานศิลปะ และผลงานของนักสร้างสรรค์ทั้งหลาย ต้องปรับตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ‘NFT’ จะช่วยแปลงงานเหล่านี้ให้ทำ เงินได้ และเป็นตัวพลิกโฉมวงการสร้างสรรค์โลก ที่สร้างมูลค่าการซื้อขายแล้วเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ภาพทวีตแรกของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter ถูกขายไปในราคา 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90.8 ล้านบาท ให้กับนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ข้อความในทวีตระบุแค่เพียง “just setting up my twttr” เผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2006

การซื้อขายไฟล์ภาพดิจิทัลในราคาอันน่าเหลือเชื่อเช่นนี้ ยังกระจายไปยังภาพและมีมชื่อดังอื่น ๆ ที่ล้วนเคยผ่านสายตาพวกเรากันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพ “เด็กหญิงมหันตภัย” (Disaster Girl) ที่เพิ่งเคาะขายไปในราคาเกือบ 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 15 ล้านบาท หรือจะเป็น “เจ้าแมวสายรุ้ง” (Nyan Cat) ที่อยู่ในภาพหน้าปกบทความนี้ ก็ถูกขายไปในราคาสูงลิบถึงเกือบ 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18.7 ล้านบาทเลยทีเดียว

ถึงเวลานี้ผู้อ่านคงเกิดคำถามผุดขึ้นมาทันทีว่า ทำไมไฟล์ภาพดิจิทัลที่ก๊อปปี้กันได้เกลื่อนกลาด ถึงมีมูลค่าขึ้นมาได้ แถมยังขายได้แพงมหาศาลเช่นนี้

ถ้าเงื่อนไขของราคาอยู่ที่ความพิเศษในการเป็น “ของแท้” ที่คนต้องการ และมี “ชิ้นเดียวในโลก” เหมือนกับภาพ Mona Lisa หรืองานศิลป์ของบรรดาจิตรกรชื่อดัง ถ้าอย่างนั้น เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากวงการคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง “NFT” ก็คือคำตอบ ที่จะมาช่วยพิสูจน์ความเป็นของแท้ไม่แพ้ Ctrl+C และจะมาพลิกเกมของวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกในเร็วๆ นี้

NFT: ติดลายเซ็น สร้างมูลค่าให้งานศิลป์ดิจิทัล

NFT หรือ Non-fungible Token คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) รูปแบบหนึ่ง ถ้าอยากเข้าใจให้ง่ายขึ้นก่อนที่จะไปเรียนรู้ความพิเศษของเจ้าสินทรัพย์ตัวนี้ อาจต้องลองเปรียบเทียบกับ บิตคอยน์ (Bitcoin) ที่หลายคนพอจะคุ้นเคยกันมาบ้างแบบ 101 เสียก่อน

บิตคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Fungible Token คือเป็นเหรียญ/เงินดิจิทัลที่เหมือนกัน แลกเปลี่ยนทดแทนกันได้ คล้ายกับเหรียญ 1 บาท ที่ทุกเหรียญเหมือนกันหมดแยกไม่ออก มันจึงทำหน้าที่เป็นเงิน หรือตัวกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการได้

แต่สำหรับ Non-fungible Token (NFT) จะเป็นโทเคน/เหรียญดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำ หรือทดแทนกันได้ เพราะถูกพัฒนาขึ้นให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เปรียบเสมือนเป็นของสะสมที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ เป็นลายเซ็นดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ช่วยพิสูจน์ความเป็นเจ้าของชิ้นงาน

ดังนั้น ไฟล์ดิจิทัลใดๆ ที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็น NFT ก็เปรียบเสมือนของสะสมที่อยู่ในโลกดิจิทัล ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ทุกอย่างรอบตัวเราจะมี Digital Twin หรือ การทำสำเนาแบบจำลองของวัตถุต่าง ๆ ในทางกายภาพ ให้มีตัวตนและมีมูลค่าอยู่ในโลกดิจิทัลด้วย

NFT จะทำหน้าที่เป็นใบรับรองความเป็นต้นฉบับของสินค้าและบริการดิจิทัล ชิ้นงานต่าง ๆ จะถูกกำหนด Serial Number เป็นหมายเลขที่ไม่ซ้ำกัน เรียกว่า Token ID โดยเป็นการจัดเก็บอยู่ในเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)  โดย Token ID นี้จะทำงานในลักษณะเดียวกับบาร์โค้ดสำหรับใช้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับรายการของสะสมนั้น ๆ  สามารถแยกแยะและบ่งบอกได้ถึงคุณลักษณะที่แตกต่างกันของชิ้นงาน ในฝั่งของนักสะสม ลูกค้า หรือนักลงทุน จะมี Contract of ownership สัญญาการเป็นเจ้าของชิ้นงานดิจิทัล ที่เปิดเผยข้อมูลให้สามารถตรวจสอบความเป็น Original ของชิ้นงานได้ รวมไปถึงพิสูจน์ทราบได้ด้วยว่า ใครบางคนกำลังถือครองชิ้นงานศิลปะหรือของสะสมดิจิทัลที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาด

อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นเรื่องไกลตัวของพวกพวกนักลงทุนเลือดใหม่ และบรรดาศิลปินครีเอเตอร์ยุคใหม่ที่ผลิตผลงานจากคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในโลกของการทำให้ทุกอย่างเป็นดิจิทัล (Digitization) ตั้งแต่เพลง ภาพวาด ศิลปะการแสดง ไปจนถึงอีกหลายผลงานสร้างสรรค์ที่ทยอยตบเท้าเข้าสู่โลกดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ “ตลาดที่ไร้พรมแดน” กันแล้ว

เมื่อเริ่มเข้าใจในวงการคริปโต และจักรู้ความพิเศษของ NFT ไปแล้ว คราวนี้เราจะชวนผู้อ่านย้อนกลับไปดูภาพทวีตแรกของ Jack Dorsey กันอีกครั้ง

หากเปรียบเทียบกันระหว่าง ภาพเขียนของศิลปินระดับโลก กับ ทวีตแรกของโลกโดยผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ Jack Dorsey (กายภาพ VS ดิจิทัล) คุณคิดว่า 2 ชิ้นงานนี้มีมูลค่าสูสีกันหรือไม่

หากในยุคก่อนที่จะมี NFT เกิดขึ้น แน่นอนว่าภาพทวีตแรกนั้นแทบจะไม่มีมูลค่าเลย เพราะเราสามารถแคปเจอร์หน้าจอและก็อปปี้ภาพนี้ซ้ำไปมาได้ไม่รู้จบเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก แต่หลังจากที่มี NFT เราสามารถระบุความเป็นต้นฉบับของภาพได้ ทำให้ภาพทวีตแรกนี้ได้รับการพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่าเป็นการพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ด้วยมือของ Jack Dorsey จริง

 

เมื่อพิสูจน์ความเป็นของแท้ได้แล้ว สิ่งที่จะวัดกันต่อไปว่างานที่แปลงเป็น NFT จะมีมูลค่าแพงได้แค่ไหน ก็อาจต้องขึ้นอยู่กับความพิเศษของงานนั้น ๆ เช่น มีชิ้นเดียวในโลก เป็นโมเมนท์เหตุการณ์สำคัญระดับโลก หรือเป็นงานไวรัลที่ทุกคนในโลกโซเชียลรู้จักกันดี โดยไม่จำเป็นต้องมีการันตีจากสถาบันหรือพิพิธภัณฑ์ไหนๆ

ความยิ่งใหญ่ของเจ้านกสีฟ้า Twitter ซึ่งกลายเป็นอาณาจักรที่มีบัญชีผู้ใช้งานถึง 192 ล้านบัญชี ในอีก 14 ปีต่อมา จึงทำให้ภาพทวีตแรกของโลกนับเป็นโมเมนต์สำคัญ และเปรียบได้เป็นผลงานชิ้นเอกของโลกไม่ต่างกัน และยังสามารถตอบคำถามไปถึงการซื้อขายประมูลงาน NFT อีกหลายชิ้น ที่ทำราคาพุ่งทะลุโลกไปอย่างน่าเหลือเชื่ออีกด้วย

“Disaster Girl”  มีมสุดดังในโลกออนไลน์ NFT เป็นอีกภาพที่กอบโกยรายได้ให้กับเด็กหญิง Zoë Roth ผู้ซึ่งไม่คาดคิดว่าภาพที่พ่อของเธอถ่ายเมื่อปี 2548 ขณะกำลัง “ยิ้มใส่กล้องอย่างเจ้าเล่ห์ในขณะที่มีฉากหลังเป็นบ้านกำลังถูกไฟไหม้” จะกลายเป็นกระแสและสามารถขายได้สูงถึง 180 ETH (อีเธอเรียม) หรือ เกือบ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 15 ปีให้หลัง แม้ภาพนี้คงไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เมื่อถ่ายออกมาแล้ว ประกอบกับองค์ประกอบและสถานการณ์ ทำให้ผู้พบเห็นสามารถตีความได้หลากหลาย เสริมกับ Creator หัวใส เอาภาพเธอไปตัดต่อให้เข้ากับเหตุการณ์หายนะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่ามันจะดูเป็นตลกร้าย แต่มันก็สร้างเม็ดเงินให้ทั้งผู้สร้างงานและเจ้าของภาพต้นฉบับได้ไม่น้อยเลย

มีมชื่อดังที่ทำเงินได้มหาศาลยังรวมถึง Nyan Cat เจ้าแมวสายรุ้งในหน้าปกบทความนี้ โดยฝีมือของ Chris Torres ที่สามารถทำเงินได้เกือบ 600,000 ดอลลาร์ ปัจจุบันก็ยังขยันทำเงินได้อยู่เรื่อย จากการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ที่ไม่ซ้ำกันถึง 781 items (ข้อมูลจาก Nyan Cat Official ใน https://opensea.io/collection/nyan-cat-official)

 

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment