Home Technology เทคโนโลยีช่วยได้ ตรงไหนในเมืองควรปลูกต้นไม้เพิ่ม

เทคโนโลยีช่วยได้ ตรงไหนในเมืองควรปลูกต้นไม้เพิ่ม

by Lifeelevated Admin2

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมานาน และนับวันจะทวีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดที่น่าจับตาก็คือการที่ Google ผุดโครงการ Tree Canopy Lab ใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยวิเคราะห์ว่าควรจะปลูกต้นไม้เพิ่มตรงไหนบ้างในเมือง เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้นตามไปด้วย

โดยนำร่องที่แอลเอ (ลอสแอนเจลิส) ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก โดยการวางแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ภายในเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่แน่นขนัดอยู่แล้ว ไม่สะเปะสะปะ และป้องกันการสูญเปล่าทั้งในแง่ของต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ กำลังคน และเวลา ทั้งยังทำให้ภารกิจคืนปอดให้กับเมืองสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด

พวกเราส่วนใหญ่คงเคยได้ยินสุภาษิตอมตะที่ว่า “เวลาที่ดีที่สุดในการปลูกต้นไม้คือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเวลาที่ดีที่สุดรองลงมาคือตอนนี้” เมืองต่างๆ ทั่วโลกมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้มากขึ้น เพื่อเพิ่มร่มเงาให้กับถนนในเมืองที่นับวันจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ

อุณหภูมิร้อนจัดกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในเมืองที่บรรดาคอนกรีตและโครงสร้างพื้นฐานกำลังสร้างเกาะความร้อน หรือ Urban Heat Island: UHI (ปรากฏการณ์ที่พื้นที่ในมหานครมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบอย่างมีนัยสำคัญ โดยความแตกต่างของอุณหภูมิที่สูงกว่าดังกล่าวจะชัดเจนในตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน ในฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน) พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลให้คุณภาพอากาศไม่ดี เกิดการขาดแคลนน้ำ และตามมาด้วยปัญหาด้านสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ

“ต้นไม้” ถูกมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ใช่ และได้รับความเห็นชอบมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิบนท้องถนน ในขณะเดียวกันก็เป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น กระนั้นหลายเมืองอาจไม่มีงบประมาณหรือทรัพยากรในการที่จะค้นหาว่าต้นไม้ทุกต้นในเมืองอยู่ที่ใดบ้าง รวมถึงถ้าจะปลูกต้นไม้ใหม่จะปลูกตรงไหนจึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้

Tree Canopy Lab ของ Google ทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลงได้ โดยขณะนี้ทาง Google กำลังผนวก AI และภาพถ่ายทางอากาศเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยให้เมืองต่างๆ เห็นความครอบคลุมของเรือนยอดต้นไม้ (Tree Canopy) ที่ปกคลุมเมืองอยู่ในปัจจุบัน และช่วยวางแผนโครงการปลูกต้นไม้ในอนาคตได้ โดยเทคโนโลยีสุดล้ำนี้จะเริ่มใช้ที่เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเมืองแรกของโลก

ซึ่งจาก https://insights.sustainability.google/labs/treecanopy ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปดูได้จากแท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล นอกจากจะฉายให้เห็นภาพชั้นเรือนยอดไม้แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงดัชนีความร้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพ และความหนาแน่นของประชากรในแต่ละย่านของเมืองลอสแอนเจลิสหรือแม้กระทั่งทรายว่าพื้นที่ใดที่เสี่ยงต่อความร้อนจัด และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณใดบ้างที่สามารถจะต้อนรับการชอนไชของรากต้นไม้ใหม่ได้

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการ Tree Canopy อยู่ในแพลตฟอร์ม Environmental Insights Explorer (EIE) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เมืองต่างๆ กว่า 3,000 แห่งทั่วโลก สามารถวัดค่า วางแผน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษทางอากาศได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นอีกก้าวหนึ่งในความมุ่งมั่นของ Google ที่จะช่วยรัฐบาลท้องถิ่นหลายร้อยแห่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมั่นใจและตรงจุดมากขึ้น

กระบวนการเก็บข้อมูลของ Tree Canopy Lab ทำโดยการรวบรวมภาพถ่ายทางอากาศที่รวบรวมจากเครื่องบินในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ตลอดจนความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลของ Google AI และ Google Earth Engine ทำให้สามารถระบุต้นไม้ทั้งหมดในเมืองลอสแอนเจลิสและวัดความหนาแน่นได้ ภาพที่ใช้ในการคำนวณเหล่านี้ รวมถึงภาพถ่ายสีที่แสดงให้เห็นอย่างใกล้ชิดด้วยมุมมองจากท้องฟ้า และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับชั้นเรือนยอดไม้ที่ปกคลุมเมือง ภาพถ่าย Near Infared จะตรวจจับสีและรายละเอียดที่ตามนุษย์มองไม่เห็น และเปรียบเทียบภาพจากมุมต่างๆ เพื่อสร้างแผนที่ที่เผยให้เห็นถึงความสูงต่ำของภูมิประเทศ

จากนั้นใช้ AI ตรวจจับต้นไม้แบบพิเศษซึ่งจะสแกนภาพโดยอัตโนมัติตรวจจับการมีอยู่ของต้นไม้ ต่อด้วยการสร้างแผนที่ที่แสดงความหนาแน่นของเรือนยอดต้นไม้ที่ปกคลุมอยู่ ด้วยเครื่องมือนี้ทำให้เมืองลอสแอนเจลิสไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการศึกษาต้นไม้ด้วยตนเองที่มีราคาแพงและใช้เวลามาก ไม่ต้องสำรวจต้นไม้ตามบล็อกต่างๆ แล้วจดบันทึก ซึ่งเป็นวิธีการล้าสมัย และไม่ต้องพึ่งพาการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์เพราะนับเฉพาะต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ต่างจาก Tree Canopy Lab ที่ทุกอย่างออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกสบาย เพียงแค่คลิก

ด้วย Tree Canopy Lab พบว่าชาวแอลเอมากกว่า 5% อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุมน้อยกว่า 10% และชาวแอลเอ 44% อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากความร้อนสูง นอกจากนี้ยังเห็นความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นบางส่วนของลอสแอนเจลิสความเสี่ยงจากความร้อนต่ำที่สุด ก็มีต้นไม้ปกคลุมสูงสุดเช่นกัน และพื้นที่เหล่านี้มีความหนาแน่นของประชากรต่ำที่สุดด้วย ซึ่งสอดรับกับผลการศึกษาของ UC Berkeley ที่ระบุว่า ชาวผิวสี  52% ชาวลาติน 32% และชาวเอเชีย 21% มีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในย่านที่มีสภาพอากาศร้อนมากกว่าคนผิวขาวราว 5-10 องศาเซลเซียส 52%, 32% และ 21% ตามลำดับ

แม้จะเป็นโครงการนำร่อง แต่ในอนาคต Tree Canopy Lab จะเชื่อมต่อเมืองต่างๆ ด้วยข้อมูลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ โดยลอสแอนเจลิสยู่ในระดับแนวหน้าของเมืองที่ใช้ป่าไม้ในเมืองเพื่อประโยชน์หลายประการ เพราะไม่เพียงแต่จะก้าวไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับรอบๆ ที่อยู่อาศัยของพลเมือง ปรับปรุงคุณภาพอากาศ และลดอุณหภูมิบนท้องถนน ในขณะที่ภูมิภาคนี้มีอากาศร้อนขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้วยเป้าหมายระยะสั้นในการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ 90,000 ต้นภายในปี 2564 และปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องในอัตรา 20,000 ต้นต่อปีในเมืองที่มีพื้นที่มากกว่า 503 ตารางไมล์ Tree Canopy Lab กำลังช่วยให้ชาวลอสแอนเจลิสบรรลุเป้าหมายนี้ ทั้งพลเมืองทุกคนในทุกย่าน และองค์กรชุมชน ไปจนถึง Eric Garcetti นายกเทศมนตรี และ Rachel Malarich เจ้าหน้าที่ป่าไม้คนแรกของเมือง สามารถเข้าถึงมุมมองจากท้องฟ้าเพื่อร่วมกันดูว่าต้นไม้ที่มีอยู่ในเมืองอยู่ที่ใด และพื้นที่ใดต้องการพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายไปจนถึงทุกคนในเมืองสามารถสำรวจลอสแอนเจลิสใน Tree Canopy Lab และเก็บข้อมูลเชิงลึกได้ ตัวอย่างเช่น ห้องปฏิบัติการนี้สามารถช่วยให้ทุกคนระบุบล็อกที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพในการปลูกต้นไม้สูง และค้นหาทางเท้าที่เสี่ยงต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากมีเรือนยอดต้นไม้ปกคลุมน้อย เพื่อนำต้นไม้ใหม่ไปปลูกเพิ่มเติม

“ต้นไม้ทุกต้นที่เราปลูกสามารถช่วยยับยั้งวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และเมื่อเราขยายป่าในเมือง เราสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตที่จะทำให้เราสุขภาพดียั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้น สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น เทคโนโลยีของ Google จะช่วยให้เรานำพลังของต้นไม้มาสู่ครอบครัวและครัวเรือนทั่วลอสแอนเจลิสเพิ่มความเขียวขจีให้กับพื้นที่สาธารณะของเรา รังสรรค์ความสวยงามให้กับเมืองของเรา และนำอุณหภูมิที่เย็นลงมาสู่ละแวกบ้านของเราอีกครั้ง” Eric Garcetti นายกเทศมนตรีเมืองลอสแอนเจลิสกล่าว

ทั้งนี้ Tree Canopy Lab ของ Google สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ pLAn ของแอลเอ ซึ่งเกี่ยวกับการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2573 ยานยนต์ทุกคันจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% และจะรีไซเคิลน้ำเสียได้ 100% รวมถึงคาดว่าจะสร้างงาน “กรีน” กว่า 400,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2578 บรรลุเป้าหมายอนาคตที่ไร้ขยะ โดยการเลิกใช้โฟมภายในปี 2564 ยุติการใช้หลอดพลาสติกและภาชนะสำหรับซื้อกลับบ้านแบบใช้ครั้งเดียวภายในปี 2571 และจะไม่ส่งขยะไปฝังกลบอีกต่อไปภายในปี 2593

 

 

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/international-48881837

https://bit.ly/37KMVU7

https://bit.ly/2JKWwSX

https://www.blockdit.com/posts/5d8dc90f99fee60faf92e905

https://bit.ly/2VQUFhP

Related Articles

Leave a Comment