Home Technology เปิดกระบวนการพัฒนา Deep Tech สู่ตลาดอินโนเวชัน ทางเลือกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เปิดกระบวนการพัฒนา Deep Tech สู่ตลาดอินโนเวชัน ทางเลือกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

by Lifeelevated Admin1

ปัจจุบันสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นหากธุรกิจใดไม่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ก็อาจถูกทิ้งไว้เบื้องหลังได้ โดย Deep Technology หรือ Deep Tech คือเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร ลอกเลียนแบบได้ยาก เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง เนื่องจากผ่านการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม โดยมุ่งเป้าในการแก้ปัญหาในระดับ Mega Trend

ซึ่ง Deep Tech Startup กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคม ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาแก้ไขปัญหาระดับโลกต่างๆ เช่น Artificial Intelligence (AI), Machine Learning, Robotics, Blockchain, Advanced Sensing, Synthetic Biology, Quantum Computing, Internet of Things (IoT), Augmented Reality (AR)

โดยกระแสของ Deep Tech ได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Amazon, IBM, และ Microsoft ที่ร่วมมือกันทำการศึกษาวิจัยด้าน AI หรือผู้ให้บริการด้านการขนส่งอย่าง Uber ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาบริการ Driverless Car Services เช่นกัน

ศาสตราจารย์ Deborah Estrin จาก Cornell Tech กล่าวว่า Deep Tech เป็นสิ่งที่ดีในการผลิตนวัตกรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากมีอะไรให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทลายขีดจำกัดเดิมๆ ด้วย นั่นหมายความว่า Deep Tech เองก็ไม่ใช่สิ่งตายตัว ถ้าเราหยุดพัฒนา Deep Tech แล้วมีผู้พัฒนาเจ้าอื่นสามารถคิดค้นสิ่งที่ใกล้เคียงกันได้เยอะขึ้น สุดท้าย Deep Tech ก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีธรรมดา ดังนั้นผู้ที่พัฒนา Deep Tech จะต้องมีความตื่นตัวและก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ

 

ทั่วโลกตื่นตัวกับกระแส Deep Tech ไทยก็ให้สำคัญเช่นเดียว

โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (UTC) พร้อมสนับสนุนนักวิจัยด้าน Deep Tech ผลักดันนวัตกรรมเชิงลึกออกสู่ตลาด ส่งเสริมธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมีตัวอย่างงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จเช่น DeepGI ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับก้อนเนื้อในลำไส้, Aqua Innovac วัคซีนสูตรน้ำไร้เข็มสำหรับปลาที่เลี้ยงในฟาร์ม, ReadMe by eikonnex.ai ปัญญาประดิษฐ์อ่านข้อความ ภาพ และวิดีโอเพื่อแปลงเป็นเอกสารดิจิทัล ซึ่งเป็นบางส่วนจากกว่า 30 นวัตกรรมเด่นจากงานวิจัยเชิงลึกหรือดีพเทค (Deep Tech) ของนักวิจัย UTC

ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (UTC) กล่าวว่า งานวิจัยที่ดีไม่เพียงช่วยเพิ่มองค์ความรู้ทางวิชาการแต่ยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างคุณค่าจากการนำไปใช้จริงได้ ซึ่ง UTC มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเร่งสปีดงานวิจัยดีพเทคให้ไปสู่ตลาด เพื่อสร้างงานวิจัยให้เป็นธุรกิจนวัตกรรมที่มีคุณค่าตอบโจทย์สังคม และเศรษฐกิจ อย่างยั่งยืน

 

UTC พร้อมสนับสนุนงานวิจัย Deep Tech 3 ประเภท

ได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีทางการแพทย์ (MedTech) และเทคโนโลยีชีวภาพ (BioTech) โดยวิธีการทำงานเริ่มต้นจากการเฟ้นหางานวิจัยเทคโนโลยีดีพเทค จากนั้นทีม UTC จะทำงานใกล้ชิดกับทีมวิจัย เพื่อยกระดับความพร้อมด้านธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีแบบมุ่งเป้า โดย UTC จะให้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง UTC และเครือข่ายพันธมิตรมาทำงานร่วมกัน ในรูปแบบ ‘ทีมโปรเจกต์’

ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโครงการนวัตกรรม ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการกระบวนการพัฒนานวัตกรรมและแผนธุรกิจ ที่จะมาช่วยให้คำแนะนำในกระบวนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในแต่ละขั้นตอน เช่น การพัฒนาโมเดลธุรกิจ การทดสอบตลาด การเลือกวิธีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจและกลยุทธ์สิทธิบัตร ที่จะมาช่วยให้คำแนะนำในการวางแผนกลยุทธ์ด้านสิทธิบัตรเช่น IP Landscape การขึ้นทะเบียนอาหารและยา เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้เฉพาะด้าน เช่น หากเป็นงานวิจัยที่ต้องการประยุกต์เทคโนโลยี AI เพื่อไปใช้งานทางการแพทย์ ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาแพทย์ที่ให้คำแนะนำด้านการทำ Clinical Trial ระบบการเบิกจ่าย หรือกลยุทธ์ในการสร้างการยอมรับในการใช้งานโดยแพทย์ เป็นต้น

 

นำมาสู่ 3 กระบวนการพัฒนา Deep Tech สู่ตลาดอินโนเวชัน

สำหรับระยะเวลาพัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ จะมีเป้าหมายในการดำเนินงานไม่เกิน 12 เดือน ทั้งนี้ กระบวนการพัฒนานวัตกรรมจะมี 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

  1. ขั้นตอนการค้นหางานวิจัยที่มีความพร้อม

ศูนย์ UTC จะเสาะหาและเปิดรับสมัครผลงานวิจัยเข้ามา โดยจะมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาโครงการ จากนั้นเมื่อรับงานวิจัยเข้ามาแล้ว UTC ก็จะจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมเข้าไปดูแลใกล้ชิด เพื่อยกระดับความพร้อมทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี จนสามารถได้แผนธุรกิจเบื้องต้นและสามารถประเมินว่างานวิจัยนี้สามารถใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดเป้าหมาย และมีลูกค้าที่สนใจซื้อ

  1. การพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ภาคสนามกับกลุ่มลูกค้าหรือผู้ใช้งานจริง

จากแผนธุรกิจที่ได้ ทางทีมวิจัยก็จะทำการพัฒนาต้นแบบขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็นำไปทดสอบตลาดด้วยการใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญหรือโค้ชในด้านต่างๆ จาก UTC และเครือข่าย ที่ให้คำแนะนำและนำผลจากการทดสอบใช้ไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกไปเป็นไปตามทิศทางที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด

  1. การดำเนินการเชิงพาณิชย์

เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการวางแผนดำเนินการเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผู้เชี่ยวชาญจาก UTC จะให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ต่างๆ เช่นการดำเนินการด้านกฎหมาย การขอสิทธิบัตร การถ่ายทอดเทคโนโลยี/สิทธิบัตรจากมหาวิทยาลัย การเจรจากับพันธมิตรภาคธุรกิจ การระดมทุน เป็นต้น

โดยศูนย์ UTC พร้อมให้คำปรึกษาแก่นักวิจัย ผู้ประกอบการ SME ทุกท่านที่มีงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีเชิงลึก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดเน้นของศูนย์ฯ อย่างไรก็ตาม สำหรับนักวิจัยที่มีงานด้าน Deep Tech เรื่องอื่นๆ ศูนย์ UTC ก็พร้อมให้คำแนะนำเช่นกัน

 

การที่ภาคธุรกิจ – องค์กรต่างๆ ในเมืองไทยตื่นตัวเรื่อง Deep Tech Startup มากขึ้นถือเป็นเรื่องดี แต่ยังคงต้องมีการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมจากภาครัฐซึ่งยังเป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาว ปัจจุบันไทยยังต้องพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมให้ครบวงจรเพื่อปูทางให้ทุกฝ่ายมาเจอกัน ทั้งตัว Startup เอง นักวิจัย นักลงทุน และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ Deep Tech Startup เมืองไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และตอบโจทย์โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจบ้านเรา

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @Lifeelevatedclub

Blog สสส.: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment