Home Body จากนี้ไป..คนไทยควรกินอะไร?

จากนี้ไป..คนไทยควรกินอะไร?

by Lifeelevated Admin2

ด้วยสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน คนทั้งโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านต่างๆ เพื่อการอยู่รอดโดยเฉพาะการบริโภค ซึ่ง โควิด-19 นอกจากจะทำให้เราต้องรับประทานถูกสุขอนามัย ภาชนะสะอาดและต้องส่วนตัวแล้ว ยังเป็นตัวเร่งสำคัญให้ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีนวัตกรรมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายรูปแบบต่างๆ โดยอาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน อาหารที่มีอายุเก็บรักษานาน และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพมีอัตราเติบโตสูง ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น เกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น และนิยมซื้อทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น New Normal

ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) สถาบันอาหาร ได้มีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่าผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งจะเป็นโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างสินค้านวัตกรรมที่จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของโรคในอนาคต เช่น

– ผู้บริโภคเวียดนาม นิยมรับประทานกระเทียมดำ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย

– ผู้บริโภคฟิลิปปินส์ นิยมรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะรุมและน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มากขึ้น

– ผู้บริโภคสิงคโปร์ มีความต้องการวิตามินซีและวิตามินรวมมากขึ้น 3-5 เท่า

– ผู้บริโภคในญี่ปุ่น โรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ หันมาเน้นช่องทางค้าปลีกเพื่อผู้บริโภคโดยตรงมากกว่าป้อนช่องทางธุรกิจบริการอาหารต่างๆ อาหารที่มีอายุเก็บรักษานานมียอดขายเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม เป็นต้น

โดยที่เกาหลีใต้ CJ CheilJedang บริษัทชั้นนำด้านอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย “2020 HMR Trend” หลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ชาวเกาหลีใต้เน้นการประหยัดระยะเวลาในการเตรียมอาหาร โดยรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้นราวร้อยละ 83 ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

ขณะที่สินค้าอาหารพร้อมรับประทานเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 46.4 เช่น สินค้าอาหารที่ใช้การทอดอย่างเดียว หรือที่ใช้ไมโครเวฟอุ่น รวมถึงสินค้า Meal Kit ที่ใช้วิธีปรุงแค่เทส่วนประกอบอาหารทั้งชุดลงไปในหม้อและต้มอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังเกิดพฤติกรรมรับประทานอาหารมื้อดึกหรือมือที่ 4 เพิ่มมากขึ้น เรียกว่า “4th Meal” อาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ สินค้าไก่แช่แข็ง เช่น ไก่ทอด ไก่นักเก็ต นอกจากนี้ยังมีเกี๊ยวซ่าแช่แข็ง ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวพร้อมรับประทาน ลูกชิ้น เบเกอรี่แช่แข็ง เป็นต้น โดยผู้บริโภคยังให้ความสำคัญเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดีต่อสุขภาพแม้ว่าราคาจะสูงก็ตาม

ด้านบริษัทวิจัย Nielsen สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค 11 ประเทศในเอเชีย หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 86 ในจีนจะรับประทานอาหารที่บ้าน รองลงมาคือ ฮ่องกง ร้อยละ 77 และมาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ ร้อยละ 62 โดยพบว่ามูลค่าค้าปลีกอาหารในเอเชียมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20-25 ต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

พฤติกรรม “คนเอเชีย” เปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภค “คนไทย” ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน 

คันทาร์ เวิร์ลพาแนล (Kantar Worldpanel) บริษัทให้คำปรึกษาด้านการตลาดและข้อมูลเชิงลึก เปิดเผยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าคนไทยซื้ออาหารบรรจุพร้อมขาย (Packaged Food) เพิ่มขึ้นถึง 40% ซึ่งมากกว่าการซื้อเครื่องดื่ม สินค้าภายในบ้าน และของใช้ส่วนตัว เนื่องจากในช่วงนี้คนไทยจำนวนมากจำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำอาหารทานเองภายในบ้านจึงเป็นสิ่งที่คนนิยมทำ โดยมีสินค้าประเภทปลากระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าขายดี ไม่ใช่แค่การทำอาหารทานเองที่บ้านเท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่การสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยผลสำรวจจากคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง พบว่าคนไทยกว่า 38% สั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery มากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากพฤติกรรมการบริโภคคนไทยเปลี่ยนแล้ว “เมนูอาหาร” ก็ควรปรับเปลี่ยน

เพราะข้อดีของอาหารไทยคือมีจุดเด่นเรื่องรสชาติ และยังมีสมุนไพร – เครื่องเทศต่างๆ เป็นส่วนประกอบ มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งในช่วงที่ไวรัส COVID-19 กำลังระบาด เราควรรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย ป้องกันการติดไวรัส ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำผัก ผลไม้ สมุนไพร 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง, เห็ดต่างๆ, ตรีผลา(สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)

กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก, ยอดมะยม, ใบเหลียง, ยอดสะเดา, มะระขี้นก, ฟักข้าว, ผักเชียงดา, คะน้า, มะรุม, ผักแพว, มะขามป้อม, ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี

กลุ่มที่มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง กะเพรา หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล เปลือกผลของพืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า)

จากตัวอย่างสมุนไพรไทย ผัก และผลไม้ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นส่วนประกอบในเมนู “อาหารไทย” หลากหลายชนิด มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายห่างไกลจากเชื้อไวรัสได้ JARTON จึงขอแนะนำเมนูอาหาร เพื่อให้คุณได้ลองทำรับประทานเองที่บ้าน

ผัดกะเพรา

อาหารไทยจานนี้มีส่วนผสมหลักคือ “ใบกะเพรา” ซึ่งถือเป็นผักสมุนไพรอีกอย่างที่คนไทยรู้จักกันดี โดยใบกะเพรามีสารโอเรียนทิน (Orientin) เป็นสารสำคัญในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อของเซลล์ ช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยไข้จากเชื้อไวรัสได้

ต้มยำ

เมนูถัดมาคือ “ต้มยำ” มีส่วนประกอบหลักคือ หอมใหญ่ หอมแดง ซึ่งมีสารสำคัญอย่าง สารเควอร์ซีทิน (Quercetin) ช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ อีกทั้งยังมีเห็ดที่มีสารเบต้ากลูแคน ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่ป่วยง่าย และมะนาวที่ใส่ในต้มยำมีวิตามินซีที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ยอดคะน้าผัดน้ำมันหอย  

ผักคะน้าใช้ประกอบเมนูอาหารหลายอย่างทั้ง ผัดซีอิ๊ว, ราดหน้า, ยำ, ข้าวผัด ฯลฯ เป็นผักที่รวมแร่ธาตุวิตามิน และสารอาหารมากมาย สำหรับเมนูที่แนะนำก็คือ ยอดคะน้าผัดน้ำมันหอยเพราะส่วนยอดของคะน้าอุดมไปด้วยวิตามินซีและเกลือแร่ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายทำให้สุขภาพแข็งแรง

น้ำพริกผักต้ม ผักสด

บ้านเราคุ้นเคยกับอาหารไทยประเภทเครื่องจิ้มอยู่แล้ว อย่างเช่นเมนูน้ำพริกผักต้มหรือผักสด โดยอาจจะเน้นผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาในเมนูนี้ให้มากขึ้น เช่น ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง ยอดสะเดา มะระขี้นก ฟักข้าว ผักเชียงดา คะน้า มะรุม ผักแพว ผักหลากสี ซึ่งผักเหล่านี้อุดมไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารกลุ่มเฟลโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง และมีวิตามินซีสูง

ยำวุ้นเส้น

เมนูแคลอรี่ต่ำและมีสมุนไพรป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกาย โดยนอกจากวุ้นเส้นที่เป็นส่วนประกอบหลักแล้ว ยังมีหอมแดงและหอมใหญ่ที่มีสารเควอร์ซีทิน (Quercetin) ช่วยลดการติดเชื้อและป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย และหอมใหญ่ยังอุดมไปด้วยวิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยป้องกันโรคและฆ่าเชื้อโรค ส่วนปรุงรสที่ขาดไม่ได้สำหรับยำก็คือ น้ำมะนาวมีวิตามินซีช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

 

 

อ้างอิง :

https://www.dailynews.co.th/economic/774892

https://mgronline.com/business/detail/9630000051348

https://www.bangkokbanksme.com/en/covid-19-asia-eating-behavior

https://www.voathai.com/a/asias-rising-appetite-for-meat-seafood-will-strain-environment/4557777.html

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/thai-food.html

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871359

https://brandinside.asia/customer-behavior-covid-19/

กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก

Related Articles

Leave a Comment