Home Technology “Telemedicine” หาหมอแนวใหม่ ได้ใจคนไข้ช่วงโควิด

“Telemedicine” หาหมอแนวใหม่ ได้ใจคนไข้ช่วงโควิด

by Lifeelevated Admin1

การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร และส่วนใหญ่ก็มักจะมาแบบไม่คาดคิด หรือที่ร้ายกว่านั้นก็คือมาในจังหวะเวลาที่ชวนให้ตึงเครียด อย่างเช่นเวลาเดินทาง อยู่ไกลบ้าน หรือบางทีก็อาจไม่หนักหนาอย่างที่คุณคิด แต่ก็อาจจะดีกว่าหากได้รับคำปรึกษาจากผู้ที่รู้จริง ซึ่งจะช่วยให้คลายกังวลได้

ยิ่งในวิกฤตโควิด 19 จึงเป็นโอกาสที่ระบบบริการสุขภาพของไทยควรจะได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะโรคอุบัติใหม่ โดยใช้ช่วงจังหวะที่คนไทยหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นเป็นแรงหนุน นำบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ในการรักษา หนึ่งในนั้นคือการยกระดับบริการทางการแพทย์ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เกิดเป็นบริการระบบสุขภาพวิถีใหม่ ที่เรียกว่า Telemedicine (โทรเวชกรรม) หรือระบบแพทย์ทางไกล

เดิมทีเทคโนโลยีการรักษาแบบ Telemedicine เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน หลายโรงพยาบาลในประเทศไทยก็ค่อยๆ เริ่มนำมาปรับใช้กับการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด 19  ยิ่งกระตุ้นให้โรงพยาบาลหันมาใช้วิธีการรักษาแบบ Telemedicine เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการรักษาในช่วงเวลาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรอคิว ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน และลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาล

 

การบริการแพทย์ทางไกลกับแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

การปรึกษาแพทย์ทางไกล (Health Teleconsultant)

คือการที่ผู้ป่วยสื่อสารกับแพทย์ทั้งผ่านระบบ แชท (Chat) หรือผ่านระบบ Video Conference ซึ่งแพทย์สามารถซักถามและสังเกตอาการผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยโรคได้เสมือนผู้ป่วยได้เข้ามาพบแพทย์ด้วยตนเองที่โรงพยาบาลหรือคลินิก และสถานพยาบาลบางแห่งยังอำนวยความสะดวกด้วยการให้บริการรับเจาะเลือดและจัดส่งยาตามแพทย์สั่งให้คนไข้ถึงบ้านอีกด้วย การปรึกษาแพทย์ทางไกลมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases  NCDs) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ ที่จะต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อติดตามอาการและต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลานั่งรอรับบริการ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สำคัญยังเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วย NCDs จะได้รับเชื้อโรคอื่นๆ ระหว่างเดินทางมาพบแพทย์

การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery)

การผ่าตัดทางไกลเป็นการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน โดยมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาเป็นส่วนสำคัญทำให้ภาพการผ่าตัดคมชัดและแสดงผล Real Time มากขึ้น โดย Global Market Insights คาดว่าตลาดหุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัดของโลกจะมีมูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 23 ต่อปี

การติดตามผู้ป่วยระยะไกล(Remote Patient Monitoring)

เป็นการนำอุปกรณ์ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย อาทิ ค่าความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย ติดตั้งที่สถานที่พัก หรือพกติดตัว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งผลการตรวจวัดให้แพทย์รับทราบตามช่วงเวลา ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลบ่อยครั้งเพื่อตรวจวัดค่า อีกทั้งแพทย์ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ทันการณ์หากค่าการตรวจวัดแสดงถึงความผิดปกติ อาทิ ความดันโลหิตสูงในระดับอันตราย หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ โดยอาจส่งทีมแพทย์เข้าไปรักษา หรือแจ้งให้ผู้ป่วยปรับยาที่รับประทาน หลายครั้งพบว่าแพทย์รับทราบความผิดปกติจากข้อมูลที่ส่งมาก่อนที่ผู้ป่วยจะสังเกตพบอาการผิดปกติของตนเอง และแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยก่อนเกิดภาวะวิกฤตได้ การติดตามผู้ป่วยระยะไกลจึงมีส่วนช่วยชีวิตผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ

คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ โอกาสสร้างธุรกิจควบคู่ Telemedicine

          การที่โลกก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยหลักในการใช้บริการแพทย์ทางไกล ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาแพทย์ทางไกล และการติดตามผู้ป่วยระยะไกล

ความนิยมใช้บริการแพทย์ทางไกลที่เพิ่มขึ้นนี้ยังสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกชุดทดสอบทางการแพทย์ (Test Kits) รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้บริการแพทย์ทางไกล เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ตรวจวัด แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ HDD รวมถึงผู้พัฒนาระบบ Software และแอปพลิเคชัน

โควิด 19 ตัวเร่ง Telemedicine โตแบบก้าวกระโดด

          จากข้อมูลของ บลู ครอสส์ บลู ชิลด์ ออฟ แมสซาชูเซตส์ บริษัทประกันสุขภาพเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีการเรียกร้องสินไหมประกันสุขภาพที่เกี่ยวกับ Telemedicine และ TeleHealth ราว 200 ครั้งต่อวัน ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 ตัวเลขสูงขึ้นถึง 40,000 ครั้งต่อวัน ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 30,000 ครั้งต่อวัน ที่น่าสังเกตคือ การเข้ารับการตรวจสุขภาพทางไกลในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนใหญ่เป็นการนัดหมายปรึกษาด้านสุขภาพจิต

สอดคล้องกับรายงานปี 2563 ของบริษัทวิจัย แกรนด์ วิว รีเสิร์ช ที่ระบุว่า ตลาดเทเลเมดิซีนกำลังเติบโตอย่างมาก โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของภาวะเรื้อรังและความต้องการดูแลตนเอง ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งตลาด Telemedicine ทั่วโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 55,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในช่วงปี 2564 – 2571 จะขยายตัวในอัตราการเติบโตต่อปีที่ 22.4% ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการของผู้บริโภค การยอมรับของผู้ป่วย และคุณภาพการดูแล

Telemedicine โอกาสสำหรับบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ ซึ่งสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ถึงแม้จะไม่สามารถทดแทนบริการทางการแพทย์แบบเดิมได้ และยังไม่สามารถใช้กับทุกโรคทุกอาการได้ แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีในการลดความเสี่ยงจากการเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในวันที่ทุกคนยังต้องสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้านและระยะห่างทางสังคมยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

 

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

#LifeElevated #Telemedicine

.

.

อ้างอิง :

https://kmc.exim.go.th/detail/20190927191211/20200901094512

https://www.salika.co/2020/09/10/telemedicinetrendbusinessfightpandemic/  

https://www.thaihealth.or.th/

Related Articles

Leave a Comment