Home Technology เทคนิคเสพข่าวอย่างไร? ห่างไกล “ข่าวปลอม”

เทคนิคเสพข่าวอย่างไร? ห่างไกล “ข่าวปลอม”

by Lifeelevated Admin1

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีมากมายมหาศาล ในยุคที่คนสามารถทำสงครามกันได้ด้วยปลายปากกาหรือปลายนิ้วที่พิมพ์สัมผัส ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ข่าว” ในปัจจุบันถูกด้อยค่าความน่าเชื่อถือลงไปทุกที เพราะต่างคนต่างต้องการรายงานข่าวและแชร์ข้อมูลกันอย่างเร่งรีบ เพื่อแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งเรื่องความสดใหม่ ทำให้ข่าวออนไลน์บางส่วนไม่ได้รับการกลั่นกรองคุณภาพและความถูกต้อง จึงทำให้หลายคนกลายเป็นเหยื่อที่หลงเชื่อข้อมูลข่าวปลอมไปแบบไม่รู้ตัว

ข่าวปลอม (Fake News) หมายถึง ข่าวที่มีเนื้อหาที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง หลอกหลวง หรือข่าวสร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนด้วยจุดประสงค์แอบแฝง มักนำเสนอในสื่อสังคมและแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ มากมาย โดยข่าวที่เข้าข่ายว่าอาจเป็นข่าวปลอมมักจะมีรูปแบบ เช่น

  • พาดหัวให้เร้าใจ เพื่อให้คลิก (Clickbait)โดยการใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัย เพื่อเรียกยอดการเข้าดู ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่มีอะไรเลย
  • โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่ถูกคัดมา หรือสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจผิด
  • เสียดสีและล้อเลียน (Satire/Parody)อาจเป็นภาพหรือข้อความที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เรียกยอดผู้ชม
  • สื่อทำงานสะเพร่า (Sloppy Journalist)ในบางครั้งผู้สื่อข่าวอาจเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด
  • พาดหัวคลาดเคลื่อน (Misleading Heading)เป็นการใช้คำหรือข้อความในการพาดหัว เพื่อให้คนเข้าใจผิด หรือเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้คนแชร์ต่อ ทั้งที่เนื้อหาอาจไม่ใช่เรื่องเท็จทั้งหมด
  • อคติและบิดเบือน (Bias/Slanted News)เป็นการผลิตเนื้อข่าวออกมา เพื่อสนับสนุนความคิด ความเชื่อตามอคติของผู้ใช้สื่อ โดยไม่สนใจว่า ข่าวดังกล่าวจะสร้างความเข้าใจผิด ๆ ต่อผู้รับสารหรือไม่

หลายครั้งที่ fake กับ fact แยกออกจากกันยาก แต่ความหมายและผลกระทบนั้นต่างกันมาก ซึ่งคนในยุคปัจจุบันจะมีวิธีการหลีกเลี่ยงข่าวปลอม หรือข่าวสร้างกระแสอย่างไร โดยที่ไม่ตกข้อมูลสำคัญจากข่าวประจำวัน และที่สำคัญ คือไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติที่คนต่างหวาดกลัวกับข้อมูลทุกอย่างที่ถูกนำเสนอเช่นนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าไม่เกี่ยวว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนฝ่ายใด เพราะถ้าเป็นข่าวแล้ว จะต้องเป็นเรื่องจริงเท่านั้น ส่วนจะเชื่อหรือจะนำไปใส่ความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล เพียงแต่มันจะ “ไม่ใช่ข่าว”

ติดตามข่าวจากสื่อหลัก

ปัจจุบันมีสื่อที่อ้างตัวเป็นแหล่งข่าวจำนวนมาก จริงบ้างไม่จริงบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงหรือนำเสนอตัวเอง คนเหล่านี้มักสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นแหล่งข่าว เป็นวงใน เป็นผู้รู้ เพราะรู้ว่าข่าวสารสามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ง่าย เรียกคนได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่มีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน ต่อให้ภายหลังจะรู้ว่าไม่เป็นเรื่องจริง แต่เพราะอคติในทฤษฎีสมคบคิด และห้องเสียงสะท้อนบดบังจนไม่สนถูกผิด ทำให้หลายแหล่งข่าวเสนอข่าวแบบเน้นความสนุก น่าสนใจ เล่นกับความรู้สึก ตอบโจทย์ความชอบของคน มากกว่าเน้นที่จะพูดความจริง

อย่างไรก็ดี ข่าวสื่อหลักปัจจุบันก็ขาดความน่าเชื่อถือไปมาก เพราะการหาข่าวของหลายๆ สำนักเปลี่ยนไป จากการลงหาข่าวภาคสนาม เปลี่ยนมาเป็นหยิบเอาประเด็นที่เกิดขึ้นหรือที่มีคนเริ่มพูดในโซเชียลมีเดียมาเล่า ชนิดที่ใช้เป็นแหล่งข่าวหลัก ดังที่เราเห็นว่าสื่อหลักปัจจุบันอ้างอิงข้อมูลว่ามาจาก “เพจดัง” ทั้งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียนข่าว ข้อความนั้นมาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้แค่ไหน เต้าข่าวหรือมีแหล่งข่าว ทำให้สื่อหลักบางสื่อก็กลายเป็นต้นตอของข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนเสียเองก็มี จึงต้องพิจารณาดีๆ

เสพข่าวจากหลายๆ สำนัก

การตรวจสอบข้อมูลข่าว คือ เราไม่ควรเสพข่าวจากแหล่งข่าวแหล่งเดียว ในฐานะของผู้เสพข่าวหรือคนรับสารจะต้องไม่ผูกขาดการรับข่าวสารจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง เพราะมีโอกาสสูงที่จะทำให้อยู่ในห้องเสียงสะท้อนได้ การเสพข่าวจากหลาย ๆ แหล่ง จึงเป็นอีกวิธีตรวจทานข้อมูลว่ามีปรากฏในแหล่งข่าวสำนักอื่น ๆ หรือไม่ หากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เผยแพร่ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน ข้อมูลเหล่านั้นก็อาจจะเป็นความจริง แต่ถ้าหากข้อมูลนั้น ๆ ไม่ปรากฏในแหล่งข่าวอื่น หรือตรวจสอบแล้วเนื้อหาไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าข้อมูลนั้นอาจเป็นเท็จ

เพราะความจริงแล้ว สิ่งที่เราได้เห็นได้อ่านผ่านข่าวจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ไม่มีทางบอกได้เลยว่าเป็นความจริงกี่เปอร์เซ็นต์ และการส่งต่อความจริงที่ไม่ชัวร์ ก็จะทำให่โลกของข้อมูลมีแต่ความไม่น่าเชื่อถือเต็มไปหมด มีหลายเว็บไซต์ที่ใช้วิธี copy กันมาแล้วทำเหหมือนเขียนข่าวเอง แต่ถ้าเช็กดี ๆ จะเห็นว่าคำผิดก็ไม่ตรวจ ผิดจุดเดียวกันนับสิบเว็บไซต์ และที่แย่กว่าคือแม้แต่สื่อหลักบางสำนักก็ไปเอาข่าวดัง ๆ ในโซเชียลมีเดียมาเล่าต่อ จึงต้องเสพข่าวจากหลายๆ ที่แล้วนำมาพิจารณา

เช็กแหล่งที่มา หาข้อมูลเพิ่มเติม

หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม ก็ต้องตรวจสอบหาแหล่งที่มา หาข้อมูลเพิ่มเติมของข่าวหรือภาพก่อนว่ามาจากแหล่งไหน เป็นเว็บปลอม เว็บเลียนแบบหรือไม่ น่าเชื่อถือเพียงใด ใครเขียนข่าว ระบุวันเวลา หรือสถานที่ไว้ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งสามารถเช็กได้ง่ายมากโดยการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่เป็นสำนักข่าว หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ ว่าข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาแหล่งที่มาได้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นข่าวปลอม หรือแม้แต่ข่าวที่อ้างอิงมาจากผู้สื่อข่าว คนดัง หรือนักวิชาการ ก็ต้องเช็กข้อมูลให้แน่ใจก่อนเช่นกัน

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

#LifeElevated #ข่าวปลอม #FakeNews

.

.

อ้างอิง :

https://bit.ly/3lpQcR8

https://bit.ly/2WFqpdp

https://bit.ly/3ir99RT

Related Articles

Leave a Comment