Home Creativity เพราะสมองคนเราเคยชินกับ “การเติม” ดังนั้นจงเพิ่ม “การตัด”

เพราะสมองคนเราเคยชินกับ “การเติม” ดังนั้นจงเพิ่ม “การตัด”

by Lifeelevated Admin1

เวลาที่เราได้รับโจทย์มาให้แก้ มีปัญหาที่เราต้องเผชิญ วิธีที่เราคุ้นเคยคือการคิดว่าจะต้องเพิ่มอะไร จะต้องพัฒนาอะไร เติมสิ่งใหม่อะไรเข้ามา งานวิจัยพบว่าสมองเราเคยชินกับการ “เติม” แต่ไม่ค่อยเคยชินกับการ “ตัด” ดังนั้นเราจึงเห็นการสร้าง การเขียนกฎระเบียบ เห็นการสะสมข้าวของเครื่องใช้ แต่บางทีการแก้ปัญหาหรือการออกแบบที่ดีอาจไม่ใช่การเพิ่ม สมองเคยชินกับการเติม อย่าลืมเพิ่มการตัด

โลกแห่งการเพิ่ม

ทุกวันนี้หากมองไปรอบ ๆ ตัวเราอาจจะพบกับการสร้างอะไรที่เกินความจำเป็น การต่อเติมบ้านที่สร้างมาแล้วก็ไม่ได้ใช้ การคิดอะไรที่ซับซ้อน การเติบโตทางเศรษฐกิจหล่อหลอมให้เรามองว่าการเพิ่ม การเติม คือ การพัฒนา โดยไม่ได้คิดถึงความซ้ำซ้อนหรือการมีมากเกินไป

สมองถนัดการเติมและเพิ่ม  

งานวิจัยได้ทำการทดลองให้ตัวต่อเลโก้ที่ต่อเป็นสะพานที่ฐานไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่เลือกที่จะหยิบชิ้นส่วนมาเติมจนได้ระดับเท่ากัน มีน้อยคนที่จะถอดชิ้นส่วนที่เกิดออก หรือการต่อเลโก้เป็นหลังคาของอาคาร การจะทำให้สมดุลด้วยการเพิ่ม จะต้องใส่ชิ้นส่วนเข้าไปถึง 3 ชิ้น แต่หากจะเอาออกจะเอาออกเพียง 1 ชิ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเติมชิ้นส่วนเพิ่มเข้าไปอยู่ดี

ต้องมีคำบอกใบ้ คนส่วนใหญ่จึงจะเลือกตัด  

การทดลองได้ลองสร้างเงื่อนไขหรือคำบอกใบ้โดยการบอกว่าการจะเพิ่มชิ้นส่วนเข้าไปมีราคาที่ต้องจ่าย คือ 20 เซนต์ แต่การย้ายหรือกำจัดออกนั้นทำได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย จำนวนคนที่ใช้วิธี “กำจัดออก” จึงค่อยเปลี่ยนจาก 41% มาเป็น 61%

สมองไม่เคยชินกับการลดหรือตัด  

ส่วนหนึ่งเพราะนัยยะทางภาษา “การทำให้ดีขึ้น” มักทำให้เราเห็นภาพเป็นการ “เพิ่มเติม” และการ “ตัด หรือ กำจัดออก” ให้ความรู้สึกทางอารมณ์ว่าเป็นการ “สูญเสีย” และการที่ใครสักคนหนึ่งจะรู้สึกว่ามีความสามารถ คือการที่เราได้ “สร้าง” ไม่ใช่การทำลายหรือกำจัดออก สัญชาติญาณและจิตใต้สำนึกเหล่านี้มักทำให้เราเลือกจะใช้วิธีทำ “เพิ่ม” มากกว่าการ “ลด”

มองการลดหรือการลบในมิติใหม่  

เล่าจื๊อนักปรัชญาชาวจีนได้กล่าวไว้ว่า “หากต้องการที่จะได้ความรู้ให้เพิ่มเติมสิ่งต่าง ๆ ในทุกวัน แต่หากจะรักษาไว้ซึ่งปัญญาให้ตัด ลด ละ วาง สรรพสิ่งในทุก ๆ วัน” บางทีแล้วการลดหรือตัดก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี ศิลปินนักประดิษฐ์อย่างลีโอนาโด ดาวินซี ก็ได้เคยบันทึกไว้ว่า “ความสมบูรณ์แบบคือการที่ไม่เหลือสิ่งใดที่ควรกำจัดออกอีกต่อไป”

ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการตัดลด  

จักรยาน Strider เป็นจักรยานที่เอาที่ปั่นออกไปแล้วให้เด็กใช้สองขาในการไถและฝึกหัดการทรงตัวแทนการถีบ โดยวัตถุประสงค์คือการฝึกฝนให้เด็กทรงตัว แทนที่จะออกแบบโดยเพิ่มล้ออีก 2 ล้อเพื่อพยุงช่วยในการทรงตัว แต่เลือกที่จะออกแบบโดยการตัดสิ่งที่เคยมีอยู่ออกไป ผลลัพธ์คือการหัดปั่นจักรยานที่ดีขึ้นและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยม หรือตัวอย่างของอิฐบล็อกที่เมื่อศึกษาก็พบว่าจุดที่สร้างความแข็งแรงคือขอบไม่ใช่ส่วนตรงกลาง จึงทำให้นักวิจัยเลือกจะเอาซีเมนต์ตรงกลางออกทำให้ขนส่งได้ไว สะดวก และมีน้ำหนักเบา ซึ่งก็เป็นผลจากการตัดลดไม่ใช่เพิ่ม

การลดต้องคิดให้มาก ไม่ใช่เรื่องที่เราถนัดโดยธรรมชาติ  

ชีวิตประจำวันเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมของการเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการอยากให้ซื้อเพิ่ม ซื้ออีก ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง การนัดประชุมเพิ่ม การขยายอาคาร ต่อเติมบ้าน จากการทดลองพบว่า “การเพิ่มมักจะเป็นความคิดแรก” ที่เราเคยชิน และมักจะเป็น “วิธีที่ง่าย ไม่ต้องใช้พลังสมองมาก เวลาที่สมองมีหลาย ๆ เรื่องให้คิด” เพราะการจะลบหรือจะลดเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความคิดและการพิจารณาที่มากกว่า

ชีวิตแบบหักล้างและหักลบ  

บางทีสิ่งสำคัญอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าเรากำลังสร้าง กำลังเพิ่มกฎ กติกา เงื่อนไข หรือสะสมสิ่งต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตให้ซับซ้อนจนเกินไปอยู่หรือไม่ หากพิจารณาอย่างไตร่ตรองดีแล้วเราอาจจะพบว่าสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นและไม่ควรตัด บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องที่เกินความจำเป็นและทำให้ชีวิตเราหนักอยู่ก็ได้ ในวันที่การทำเพิ่มไม่ค่อยได้ช่วยอะไร อย่าลืมหันมามองวิธีการที่จะตัดทิ้ง หรือลดบ้าง เพราะนั่นอาจเป็นทางออกและเป็นคำตอบที่เหมาะกับชีวิตเรา

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

อ้างอิง :

https://go.nature.com/3gthulR

Related Articles

Leave a Comment