Home Technology ทำไมต้องใช้ ‘กฎหมายต้านผูกขาด’ ส่งผลอย่างไร? กับ Big Tech จีน

ทำไมต้องใช้ ‘กฎหมายต้านผูกขาด’ ส่งผลอย่างไร? กับ Big Tech จีน

by Lifeelevated Admin2

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐของจีน (State Administration for Market Regulation : SAMR) ซึ่งกำกับดูแลด้านการผูกขาดตลาดได้สั่งให้บริษัทเทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ ยกเลิกการครอบครองลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงผู้เดียว และสั่งปรับเทนเซ็นต์โทษฐานดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ต่อต้านการแข่งขัน ขณะที่รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าควบคุมบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ

นอกจากนี้เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ‘อาลีบาบา’ ก็ถูกสั่งปรับเป็นมูลค่าสูงถึง 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังหน่วยงานกำกับดูแลด้านการต่อต้านการผูกขาดสรุปว่าบริษัทมีพฤติกรรมเหมือนผูกขาดการค้า

โดย ‘อาลีบาบา’ ถูกกล่าวหาและนำสืบได้ว่า ตั้งแต่ปี 2015 ได้อาศัยกลไกการตลาดสนับสนุนแพลตฟอร์มธุรกิจของตน โดยการขอให้ธุรกิจในอาณัติ ต้องขายสินค้าเพียงรายใดรายหนึ่งเท่านั้น ไม่ให้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของคู่แข่ง ซึ่งเรียกกันว่า ‘2 เลือก 1’

ในทำนองเดียวกัน ‘อาลีบาบา’ ยังใช้กลยุทธ์ทางด้านเทคนิค เพื่อธำรงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งของตน ในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการตลาดอย่างผิดปกติวิสัย เป็นพฤติกรรมอันขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด

ทำไม? จีนต้องใช้กฎหมายต้านผูกขาด

แนวปฏิบัติเพื่อต่อต้านการผูกขาด (Antimonopoly guidelines)

หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของรัฐบาลจีน (SAMR) ได้เปิดเผย กฎใหม่ในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีของจีน เมื่อ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเน้นการกำกับพฤติกรรมการผูกขาด เช่น กำหนดให้บริษัท Internet ต้องจัดทำบัญชีอธิบายการใช้และแยกแยะข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้ เพื่อไม่ให้เก็บข้อมูลที่มีความหลากหลายและลงลึกในเชิงพฤติกรรมมากจนเกินควร จนทำให้สามารถครอบงำตลาดได้ นอกจากนี้ยังห้าม e-Commerce Platform ไม่ให้ตั้งราคาขายในกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันหรือกำหนดช่องทางการขายของผู้ค้า โดยผู้ที่ละเมิดกฎหมายนี้อาจถูกบังคับให้ขายสินทรัพย์ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือเทคโนโลยีด้วย

กฎเกณฑ์สำหรับธุรกิจ Online Payment

ร่างกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันการชำระเงินที่ไม่ใช่ธนาคารที่เผยแพร่เมื่อ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการต่อต้านการครอบงำตลาด บนรูปแบบการทำธุรกิจ Online Payment โดยบริษัทที่จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ คือ Alibaba และ Tencent เจ้าของบริการชำระเงิน Alipay และ WeChat Pay ตามลำดับ

ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับ กฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อรายย่อยออนไลน์ ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินภายในครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นและช่วยเพิ่มเสถียรภาพในระบบ ทำให้กลุ่ม Fintech ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องเตรียมทุนสำรองเพื่อปล่อยกู้ออนไลน์มากขึ้น ถูกจำกัดสัดส่วนของสินเชื่อออนไลน์ และถูกจำกัดการให้บริการสินเชื่อข้ามภูมิภาค เช่น Ant Group มีการปล่อยสินเชื่อกระจายไปยังเมืองต่างๆ มากกว่า 200 เมือง รวม 2 ล้านล้านหยวน ดังนั้น กฎเกณฑ์ใหม่นี้จึงเพิ่มความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกดดันความสามารถในการทำกำไรของ Ant Group ให้ลดลง

ขณะที่ประเด็นเรื่อง กฎเกณฑ์เกี่ยวกับ Antitrust และ Online payment ทางการจีนยังมีแนวโน้มเข้าควบคุมการผูกขาดของกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนต่อไปเช่นกัน เพื่อให้ตลาดเกิดการแข่งขันอย่างยุติธรรม และไม่ให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจต่อรองทั้งกับผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้ามาแข่งขันของบริษัทขนาดเล็กในตลาดมากขึ้น

‘ทุน’ ที่ขยายตัวไม่เป็นระเบียบอาจก่อให้เกิดอันตราย

โดย Tian Lihui อาจารย์ด้านการเงินจาก Nankai University ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Economic Daily ว่า การเติบโตของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่เป็นเหมือนดาบสองคม หากการขยายตัวของทุนเป็นไปอย่างเป็นระเบียบ จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม แต่หากขยายตัวไม่เป็นระเบียบ จะทำให้เกิดการผูกขาดที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ

Zhu Ning นักวิจัยจาก Tsinghua University กล่าวว่า การขยายตัวและเติบโตของทุนที่ไม่เป็นระเบียบ เป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม การขยายตัวของทุนที่ไม่มีการกำกับควบคุม จะทำให้สังคมหันเหออกจากเส้นทางความก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยี ไปสู่หนทางที่จะแสวงหากำไรแบบง่ายๆ ใช้ทุนไปเพิ่มธุรกรรมและขยายฐานลูกค้า แต่กลับละเลยการสร้างนวัตกรรมต้นแบบทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้สื่อมวลชนจีนได้ยกตัวอย่างการขยายทุนแบบไม่เป็นระเบียบ คือกรณีที่อาลีบาบา หรือ Meituan ยักษ์ใหญ่ส่งอาหาร เข้าสู่ธุรกิจแบบ ‘การสั่งซื้อแบบรวมกลุ่มชุมชน’ ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ สามารถรวบรวมการซื้อสินค้าของชำหรือของจำเป็นต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วก็ไปซื้อกับผู้ค่าส่งโดยตรง ทำให้ได้ราคาถูกที่สุด วิธีการจัดซื้อแบบนี้เป็นการก้าวข้ามคนขายสินค้าของชำในท้องถิ่น แม้การซื้อสินค้าจากธุรกิจออนไลน์จะสะดวก แต่ก็ทำลายการจ้างงานในท้องถิ่น และทำลายห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food Supply Chain)

แม้การใช้กฎหมายต้านการผูกขาด จะส่งผลกระทบต่อ Alibaba และ Tencent ให้หุ้นปรับตัวลดลงในระยะสั้น แต่สำหรับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนโดยรวมกลับมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุน หลังจากกฎระเบียบเรื่อง Antitrust และการปล่อยสินเชื่อออนไลน์มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจสำหรับบริษัทจีนที่ตกเป็นเป้าหมาย และช่วยหนุนหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องให้มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะถัดไป

ในอนาคตทางการจีนยังมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี เช่น การออกแผนเศรษฐกิจ 5 ปี และแผนระยะยาวจนถึงปี 2035 เป็นต้น

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

Related Articles

Leave a Comment