Home Body รับมืออย่างไร? เมื่อ ‘โรคเครียด’ มาเยือนช่วงโควิด

รับมืออย่างไร? เมื่อ ‘โรคเครียด’ มาเยือนช่วงโควิด

by Lifeelevated Admin1

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่คงอยู่มายาวนานร่วมปีกว่า เราได้รับข่าวสารมากมายทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลเหล่านี้ได้กลายเป็นภัยคุกคามทางจิตใจและก่อตัวเกิดเป็นความเครียดภายในร่างกายเรา โดยปกตินั้นร่างกายจะถูกออกแบบให้ตอบสนองต่อความเครียดได้ดีในระดับหนึ่ง แต่หากไม่สามารถจัดการความเครียดนั้นได้ ความเครียดจะค่อยๆ สะสมและกลายเป็นความเครียดเรื้อรังซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อทุกระบบภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหาร ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น

อาการที่เกิดจากความเครียด

  • หงุดหงิด เหวี่ยงวีนใส่คนใกล้ตัวแบบไม่รู้ตัว
  • รู้สึกเบื่องานเหลือเกิน
  • อยู่ๆ ก็ท้องอืดแบบไม่มีสาเหตุ อาหารไม่ย่อย
  • ปวดท้องเหมือนเป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • ท้องผูกสลับท้องเสียแบบไม่มีสาเหตุ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • บางคนมีผื่นขึ้นตามตัวคันคะเยอเหมือนเป็นลมพิษ
  • บางครั้งอาจมีช่วงนอนไม่หลับติดกันหลายๆ คืน
  • ชอบดึงผม กัดเล็บ เมื่อเครียดแล้วอยากดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่

ผลเสียจากความเครียดเรื้อรัง

ระบบไหลเวียนโลหิต

ความเครียดเรื้อรังส่งผลต่อระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนในเลือด ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งความดันโลหิตที่สูงอยู่เป็นระยะเวลานานจะกระทำแรงเค้นต่อหัวใจ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองตามไปด้วย

ระบบประสาท

ความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงซึ่งจะลดการทำงานของสารสื่อประสาทเซโรโทนินในสมองทำให้ร่างกายทนต่อภาวะความเครียดได้น้อยลง นำไปสู่การเกิดโรควิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้ ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนที่สูงยังส่งผลกระทบต่อวงจรการนอนหลับ ทำให้ความสนใจในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ลดลง

นอกจากนี้ภายในสมองอาจมีการอักเสบเกิดร่วมด้วยอันเนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดต่ำลงจากการมีระดับคอร์ติซอลที่สูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เซลล์ประสาทที่ตายมีจำนวนมากขึ้น สภาพแวดล้อมในสมองถูกรบกวน จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความเสื่อมทางระบบประสาท อาทิ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคความจำเสื่อมอื่นๆ ได้

ระบบทางเดินอาหาร

ฮอร์โมนคอร์ติซอลสามารถกระตุ้นการหลั่งกรดภายในกระเพาะอาหาร ดังนั้นความเครียดเรื้อรังจึงเพิ่มการหลั่งกรด ส่งผลให้เยื่อบุผิวภายในทางเดินอาหารถูกทำลายและนำไปสู่การเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ความเครียดเรื้อรังยังทำให้สมองส่งสัญญาณยับยั้งการหดตัวของหูรูดทางเดินอาหารส่วนปลายและเพิ่มระยะเวลาของอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารใช้ระยะเวลาเดินทางไปสู่ลำไส้เล็กนานขึ้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคกรดไหลย้อนและอาหารไม่ย่อย

นอกจากนี้ความเครียดเรื้อรังจะทำให้จำนวนในระบบทางเดินอาหารลดลง ทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารไม่แข็งแรงซึ่งเพิ่มโอกาสของการเป็นโรคซึมเศร้าได้ และระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่สูงยังส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ระบบสืบพันธุ์

ผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิงพบว่าฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากความเครียดจะไปลดการหลั่งของฮอร์โมน FSH และ LH ทำให้การตกไข่ผิดปกติไปและส่งผลกระทบต่อการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้ในมารดาที่กำลังตั้งครรภ์พบว่า ระดับคอร์ติซอลที่สูงขึ้นจากความเครียดจะส่งผลทั้งต่อมารดาและทารกในครรภ์ การเปลี่ยนแปลงทั้งจากมารดาและทารกจะทำให้มดลูกเกิดการบีบตัว เพิ่มโอกาสของการคลอดก่อนกำหนด ส่วนผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์เพศชายนั้นพบว่าฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มสูงขึ้นจะไปรบกวนกลไกการสร้างอสุจิ อสุจิมีจำนวนลดลง รูปร่างผิดปกติ ส่งผลต่อกระบวนการสืบพันธุ์

ระบบกระดูกและข้อ

ผลเสียต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อนั้น พบว่ากล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และศีรษะมีแนวโน้มที่จะมีอาการตึงและเกร็งเพิ่มขึ้น และสามารถก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะและอาจนำไปสู่โรคไมเกรนได้

การจัดการความเครียด

ความเครียดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจะช่วยให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความเครียดได้ง่ายขึ้น ทำให้จิตใจสงบ และอาจนำไปสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น วิธีการจัดการความเครียดมีด้วยกันหลากหลายวิธี อาทิ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ การนอนหลับให้เพียงพอ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกการหายใจ การทำกิจกรรมนันทนาการ การพูดคุยปรึกษากับบุคคลอื่น และหากมีปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้ การพบนักจิตวิทยาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดการความเครียดที่ดี

ทริครับมือโรคเครียดอย่างสร้างสรรค์

ทำงานศิลปะที่มีประโยชน์

หลายคนคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องของเด็กๆ เท่านั้น แต่รู้ไหมว่าการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือนี่ล่ะ คือสิ่งที่เราควรทำไปทั้งชีวิต ลองพักสมองแล้วใช้มือในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ บ้าง ถ้าอยากให้เกิดประโยชน์ลองไปเข้ากลุ่มประดิษฐ์อะไรเพื่อเด็กด้อยโอกาสก็ยังดี

วิ่งออกกำลังกายระยะไกล

เป็นการตั้งเป้าตัวเองให้ออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย นอกจากได้ไปวิ่งให้สารเอนโรฟีนหลั่งแล้ว ยังเป็นการเทรนร่างกายให้แข็งแรงขึ้นมากๆ ไปในตัวด้วย

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

Related Articles

Leave a Comment