Home Body 5 เทคนิคแก้อาการปวด “ไมเกรน” หายได้..ไม่ใช้ยา

5 เทคนิคแก้อาการปวด “ไมเกรน” หายได้..ไม่ใช้ยา

by Lifeelevated Admin1

ไมเกรน (Migraine) คืออาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพหรือสาเหตุในโพรงกะโหลกศีรษะ (primary headache) เกิดจากมีการหลั่งสารสื่อประสาทที่จะนำไปสู่ขบวนการอักเสบ (proinflammatory peptides) ที่ปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal ganglion) ทำให้เกิดการอักเสบปราศจากเชื้อโรคที่เยื่อหุ้มสมอง (sterile meningeal inflammation) ไมเกรนมักมีอาการเป็น ๆ หายๆ โดยมีตัวกระตุ้น เช่น แสง เสียง กลิ่น ควัน อากาศร้อนและอบอ้าว เป็นต้น แม้ว่าจะรักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการปวด และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

 

อาการ

อาการของไมเกรน สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 อาการบอกเหตุล่วงหน้า

ระยะที่ 2 อาการนำ

ระยะที่ 3 อาการปวดศีรษะ

และระยะที่ 4 กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

 

         โดยอาการปวดศีรษะในระยะที่ 3 มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

สำหรับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะไมเกรน ทางสมาคมปวดศีรษะนานาชาติได้ตั้งหลักเกณฑ์การวินิจฉัยไว้ว่าจะต้องมีอาการปวดศีรษะอย่างน้อย 5 ครั้งครบตามหลักเกณฑ์ ทั้ง 3 ข้อ และไม่เข้ากับหลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดศีรษะชนิดอื่น ดังต่อไปนี้

  1. ระยะเวลาในการปวดศีรษะ 4-72 ชั่วโมง
  2. มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่ อาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดศีรษะแบบตุบๆ ปวดศีรษะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก หรืออาการปวดศีรษะเลวลงเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการเดิน การขึ้นบันได
  3. มีอาการอย่างน้อย 1 ใน 2 ข้อ ได้แก่ อาการคลื่นไส้และ/หรืออาเจียน หรืออาการกลัวแสงและกลัวเสียง

 

สำหรับความชุกของอาการปวดศีรษะไมเกรน จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า เพศหญิงมีความชุกมากกว่าเพศชายเป็นสัดส่วน 2 ต่อ 1 ถึง 3 ต่อ 1 และความชุกจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมีความชุกสูงสุด ที่อายุประมาณ 40 ปี อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ อาการปวดศีรษะเป็นครั้งคราว (episodic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน และอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (chronic migraine) โดยมีความถี่อาการปวดศีรษะอย่างน้อย 15 วันต่อเดือนเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน

 

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน

ผู้ป่วยไมเกรนแต่ละรายควรสังเกตปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งมักจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ปัจจัยกระตุ้นเป็นได้ทั้งจากสภาวะแวดล้อม หรืออาหารบางประเภท ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ ก็จะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะได้ ในกรณีที่ไม่ทราบปัจจัยกระตุ้นหรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ บริหารจัดการความเครียด ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะได้ ปัจจัยกระตุ้นที่พบบ่อยได้แก่

  1. ภาวะอดนอน นอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  2. อาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือเล่นกีฬา
  3. ความเครียด
  4. การอยู่ในที่ที่มีแสงจ้าๆ
  5. สถานที่ที่มีเสียงดังอึกทึก
  6. อาหารบางประเภท เช่น เนย ช็อคโกแลต ถั่ว อาหารหมักดอง
  7. เครื่องดื่ม ได้แก่ ไวน์แดง เบียร์ หรือ แชมเปญ
  8. ภาวะอดอาหาร

 

การรักษา

“ไมเกรน” นับว่าเป็นหนึ่งในอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยไม่น้อย และการรักษาที่ดี… คือป้องกันไม่ให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ ซึ่งนอกจากยาไมเกรนที่เป็นวิธีดั้งเดิมของใครหลายคน นี่คือ 5 วิธี ที่ช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

 

วิธีที่ 1 การกดจุด

มีรายงานผลการศึกษาในปี 2012 ที่ทดสอบกับผู้ป่วยไมเกรนแบบไม่มีออร่า (ไม่เห็นแสงวูบวาบ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ) จำนวน 40 คน พบว่า… การกดจุดตำแหน่ง PC6 หรือบริเวณเหนือส้นมือ (มาทางข้อพับ) ประมาณ 3 นิ้ว สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้

ไม่เพียงเท่านี้ การใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดจุดตำแหน่ง LI-4 หรือบริเวณระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ของอีกข้างหนึ่ง โดยกดประมาณข้างละ 5 นาที สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะที่เกิดจากกล้ามเนื้อคอยึดตึงได้อีกด้วย

 

วิธีที่ 2 สูดดมน้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ คืออีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาความเครียด และอาการปวดศีรษะ ซึ่งเรื่องนี้เคยถูกตีพิมพ์มาแล้วในวารสารทางการแพทย์ อย่าง European Neurology ว่าการสูดดมน้ำมันลาเวนเดอร์สามารถลดความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนในผู้ป่วยบางรายได้

 

วิธีที่ 3 ทานขิง (ผง)

ฟังดูแล้วอาจจะอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่าขิงช่วยลดอาการไมเกรนได้ยังไง แต่ในปี 2014 ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยไมเกรนจำนวนกว่า 100 คน เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของขิงผงกับยารักษาไมเกรน อย่าง sumatriptan ซึ่งนักวิจัยพบว่าประสิทธิภาพในการลดอาการไมเกรนของขิงนั้นเทียบเท่ากับสถิติของ sumatriptan รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้ขิงก็ยังเป็นศูนย์ ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยรายนั้นมีอาการแพ้ขิงผงอยู่แล้ว

 

วิธีที่ 4 เล่นโยคะ

เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ว่าการเล่นโยคะช่วยผ่อนคลายความเครียดภายในใจเรา… รวมไปถึงความเครียดของกล้ามเนื้อ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในปี 2014 โดยแบ่งผู้ป่วยไมเกรนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเข้ารับการรักษาไมเกรนด้วยวิธีดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว ในขณะที่กลุ่มที่สอง เข้ารับการรักษาไมเกรนด้วยวิธีดั้งเดิมร่วมกับการเล่นโยคะ ซึ่งนักวิจัยพบว่า กลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมโยคะ สามารถบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ดีกว่ากลุ่มที่รักษาด้วยวิธีดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว

 

วิธีที่ 5 เสริมด้วย “แมกนีเซียม”

เพราะภาวะขาดแมกนีเซียมมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการปวดไมเกรนแบบมีออร่า หรือแสงวูบวาบที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเริ่มปวดศีรษะ ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ระบุไว้ว่า การเสริมแมกนีเซียมช่วยลดความถี่ของการเกิดไมเกรนในผู้ป่วยบางรายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนจะเริ่มกินแมกนีเซียมเสริมควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะหากคุณมีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย

 

วิธีข้างต้นนี้เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น หากอาการปวดศีรษะไมเกรนของคุณอยู่ในระดับรุนแรง แนะนำว่าควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา เพราะในทางการแพทย์แล้ว ยังมีอีกหลายวิธีในการรักษาไมเกรน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา ฝังเข็ม หรือฉีดโบท็อกซ์

 

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @lifeelevatedclub

Blog สสส. :Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment