Home Body เปิดเหตุผล ทำไม? ‘มื้อเช้า’ ไม่ได้สำคัญที่สุด’ แต่เป็น ‘สารอาหาร’ ที่สำคัญกว่ามื้ออาหาร

เปิดเหตุผล ทำไม? ‘มื้อเช้า’ ไม่ได้สำคัญที่สุด’ แต่เป็น ‘สารอาหาร’ ที่สำคัญกว่ามื้ออาหาร

by Lifeelevated Admin1

โลกนี้เต็มไปด้วย ‘ความเชื่อ’ ที่เรารับสืบทอดกันมา ซึ่งความเชื่อในยุคสมัยใหม่ที่ร้ายกว่าเก่าก็คือ ความเชื่อหลายๆ อย่างไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่นหนารองรับ และ ‘มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด’ คือหนึ่งในความเชื่อนั้น

การเคลมว่ามื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดเริ่มต้นตอนไหนไม่มีบันทึกแน่ชัด แม้ว่าจะมี ‘งานวิจัย’ จำนวนไม่น้อยสนับสนุนความเชื่อนี้ และชี้ว่า ‘คนที่กินมื้อเช้า’ จะมีสุขภาพดีกว่า ‘คนที่ไม่กินมื้อเช้า’ แต่งานวิจัยพวกนี้ก็เป็นงานเชิงสังเกตที่ดูจะหา ‘ความเชื่อมโยง’ (correlation) มากกว่า “ความสัมพันธ์เชิงเหตุผล” (causation)

กล่าวคือ คนที่ ‘กินมื้อเช้า’ อาจมีปัจจัยบางอย่างร่วมกัน ที่ทำให้คนกลุ่มนี้สุขภาพดีกว่าคนที่ไม่กิน

ใครบอกว่ากินมื้อเช้า = สุขภาพดี

เอาล่ะ พอมางานเชิงทดลอง โดยเอาคนกลุ่มหนึ่งมาทดลอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่งกิน กลุ่มหนึ่งไม่กิน ก็พบว่าอย่างน้อยๆ ผลในระยะสั้นที่วัดได้ คนที่ไม่กินมื้อเช้ามีสุขภาพที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการลดน้ำหนักหรือการบริหารน้ำตาลในเลือด (งานทดลองทำนองนี้มีหลายชิ้น เราสรุปรวมๆ ให้ฟัง)

ผลทดลองข้างต้นเป็นการหักล้างความเชื่อที่ว่ามื้อเช้าเป็นมื้อที่ ‘สำคัญที่สุด’ แบบที่ต้อง ‘กินดีที่สุด’ หรือ ‘ขาดไม่ได้’ นั้นไม่ใช่เรื่องจริงแน่ๆ

หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือ ด้วยหลักฐานที่มีและขัดแย้งกันระดับนี้ ทำให้เราไม่สามารถจะสรุปได้

ดังนั้นข้อสรุปเบื้องต้นก็คือ การไม่กินมื้อเช้าไม่ได้คอขาดบาดตายแน่ๆ และจริงๆ คนอังกฤษถึง 1 ใน 3 และคนอเมริกันถึง 1 ใน 4 ก็ไม่ได้กินมื้อเช้าเหมือนกัน ดังนั้นการไม่กินมื้อเช้าเป็นเรื่องปกติมากๆ

อาหารมื้อไหนสำคัญที่สุด

ทีนี้ คำถามต่อมา แล้วมื้อไหนที่ ‘สำคัญที่สุด’ กันล่ะ?

คำตอบตรงนี้อาจต้องกลับไปนิยามความ “สำคัญ” เพราะถ้านิยามอยู่ที่ว่าเป็นมื้อที่ยังไงก็ต้องกิน มื้อที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นมื้อเที่ยง

แต่ถ้า สำคัญ’ ที่ว่าหมายถึงมื้อที่ถ้ากินอย่าง ‘ไม่เหมาะสม’ จะสร้างหายนะให้กับร่างกายได้มาก มันคือ ‘มื้อเย็น’

 

ทำไมมื้อเย็นถึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ?

หลักๆ คือ ‘มื้อเย็น’ เป็นมื้อสุดท้ายที่เรากินของวัน ถ้าเรากินใกล้เวลานอนเกินไป สิ่งที่เรากินเข้าไปก็มีแนวโน้มจะถูกสะสมและไม่ได้ใช้ ซึ่งนั่นก็ไม่ดีต่อร่างกายแน่ๆ

ในทางกลับกัน ถ้าจะกินอาหารไปแล้วให้ร่างกายได้ใช้มากที่สุด แบบใช้เยอะๆ หลักๆ เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นมื้อเช้า เพราะร่างกายจะ ‘ใช้ทั้งวัน’

อ่านแบบนี้ ก็อาจคิดว่า เอ… แบบนี้ ‘มื้อเช้า’ ก็สำคัญสิ

องค์ความรู้ที่เรามีชัดเจนก็คือ ช่วงเช้าร่างกายสามารถบริหารจัดการน้ำตาลได้ดีกว่าตอนเย็น ซึ่งในทางปฏิบัติ อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราจะกินขนมหวาน การกินตอนเย็นน่าจะทำให้เราอ้วนแน่ๆ แต่ถ้ากินตอนเช้า ระบบการใช้พลังงานของร่างกายดีกว่า ร่างกายอาจเอาน้ำตาลไปใช้หมด ไม่สะสม ทำให้เราไม่อ้วน (อันนี้พูดแบบง่ายมากๆ)

ประเด็นคือ ถ้าพูดในทางสุขภาพ เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ที่เราควรจะกิน ‘ขนมหวาน’ ในเวลาไหน เพราะเราไม่ควรจะกินเลย เนื่องจากขนมหวาน ‘ไม่มีประโยชน์’ ต่อร่างกายเท่าไร

และการไม่กินอะไรตอนมื้อเช้าเลยอาจดีกว่านั้นก็ได้ ถ้าเราเชื่อแนวคิด Intermittent Fasting หรือเชื่อในการกินแต่มื้อกลางวันกับมื้อเย็น

ถึงตรงนี้หลายคนอาจรู้สึกเวียนหัวมาก เพราะความรู้โภชนาการนั้นหลากหลาย แต่นี่ก็คือเรื่องปกติ เพราะความรู้ในโลกทางโภชนาการไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่มีข้อสรุปตายตัว และมีข้อเสนอเชิงปฏิบัติที่แย้งกันไปมา

ถ้าจะจำง่ายๆ ก็จำเอาไว้แค่ว่า “ไม่กินมื้อเช้า ก็ไม่ได้คอขาดบาดตาย”

 

กินมื้อไหนอาจไม่สำคัญเท่าได้ “สารอาหาร” เพียงพอหรือไม่

สิ่งที่น่าจะเป็นประเด็นมากกว่าจะกินกี่มื้อ? จะเว้นมื้อไหน? ก็คือการที่เรากินเข้าไปรวมๆ ทั้งวัน เราได้รับสารอาหาร ‘เพียงพอ’ สำหรับร่างกายหรือไม่

เพราะข้อได้เปรียบของการกินหลายมื้อก็คือสิ่งที่กินเข้าไปมักหลากหลาย และมีโอกาสที่จะกินไปมั่วๆ แล้วได้สารอาหารครบมากกว่าคนที่กินน้อยมื้อกว่า

หรือพูดอีกแบบ คนยิ่งกินน้อย ก็ยิ่งต้อง ‘มีความรู้’ ในการจัดการอาหารให้ตัวเองได้สารอาหารครบ

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจกันง่ายๆ เพราะที่เราเรียกๆ ว่า ‘สารอาหาร’ ที่ร่างกายต้องการ จริงๆ สารอาหารหลายอย่างร่างกายผลิตเองได้ แต่บางอยางก็ผลิตเองไม่ได้ (เช่น ร่างกายเราผลิตวิตามิน C เองไม่ได้ แต่ผลิตคอเลสเตอรอลเองได้ – คอเลสเตอรอลนี่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เรื่องนี้หลายคนอาจไม่รู้) ดังนั้น เราจึงควรจะไปโฟกัสที่สิ่งที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้เป็นหลัก

ปัญหาคือ คนโดยทั่วๆ ไปไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องนี้ ดังนั้น การกินสุ่มๆ ไปเยอะๆ เลยทำให้เรามีโอกาสจะได้สารอาหาร ‘ครบ’ มากกว่า และนี่ก็อาจเป็นที่มาว่าทำไมผู้ใหญ่ชอบสอนเด็กว่า ‘มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด’ เพราะสำหรับมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตแล้ว การกินไปมั่วๆ ให้ได้สารอาหารครบนั้นดูจะปลอดภัยกว่าการลดปริมาณอาหารจนเสี่ยงภาวะขาดสารอาหารบางชนิด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สุดท้ายแล้วสิ่งที่พึ่งระวังพวกคำแนะนำด้านอาหารที่มีกันมาตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็คือ ‘ไลฟ์สไตล์’ เราไม่ได้เหมือนพวกเขา

เราไม่ได้ตื่นเช้ามืดและทำงานใช้แรงงานหนักๆ ในไร่นาจนถึงเที่ยง และตอนบ่ายก็ใช้แรงงานต่อ ถ้าแบบนั้นน่ะ ไม่กินมื้อเช้าก็จะไม่มีแรงทำงาน

แต่พอหันมามองปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เป็นมนุษย์ออฟฟิศนั่งเก้าอี้ ที่อยู่ในเมืองที่ไม่เอื้อให้คนเดินอย่างกรุงเทพฯ เรายิ่งได้เดินน้อย และวันๆ เราไม่ได้ใช้แรงงานเยอะแน่ๆ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าสไตล์อาหารแบบยุคของคนที่ต้องใช้แรงงานทางกายภาพทั้งวันจะเหมาะกับเราเหมือนที่จะเหมาะกับพวกเขา

ไม่ว่านั่นจะเป็นเรื่องอาหารมื้อเช้าหรือมื้อไหนๆ ก็ตาม

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @Lifeelevatedclub

Blog สสส.: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment