Home Family เปิดใจเข้าถึง 7 ข้อต่อไปนี้ เพื่อที่คนในบ้านจะได้ดีกัน

เปิดใจเข้าถึง 7 ข้อต่อไปนี้ เพื่อที่คนในบ้านจะได้ดีกัน

by Lifeelevated Admin1

ไม่มีบ้านไหนที่ไม่เคยทะเลาะกัน เพราะการกระทบกระทั่งกันของกลุ่มคนที่มีสมาชิกหลายคนสามารถเกิดขึ้นได้เสมอเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะไม่พอใจกัน เถียงกัน งอนกัน โกรธกัน ไม่คุยกัน ก็อยู่ที่ว่าสาเหตุของการทะเลาะกันนั้นหนักหนาแค่ไหน ระดับความแรงความเลวร้าย มีคนง้อไหม รวมถึงกำแพงและทิฐิในใจว่าสูงกับคนในบ้านแค่ไหน เพราะก็มีหลายกรณีที่ทะเลาะแล้วลงเอยด้วยการตัดขาดสัมพันธ์กันไปชั่วชีวิตก็มี

การทะเลาะกับคนในบ้านสร้างความเจ็บปวดทางใจได้มากเป็นพิเศษ เพียงเพราะเหตุผลว่า “ครอบครัว” ก็น่าจะเข้าใจหรือเห็นความสำคัญกันมากกว่าคนนอก ด้วยเราต่างก็เชื่อว่าความรักในครอบครัวเป็นความรักที่ไม่ควรมีเงื่อนไข เป็นสายสัมพันธ์ที่ผูกพันกันมากกว่าคนนอก และบ้านควรจะเป็นที่พักใจมากกว่าทำให้เหนื่อยใจมากกว่าเดิม การมีปัญหาทะเลาะกับคนในบ้านจึงเหมือนกับการที่เราโดนคนใกล้ตัวที่เราทั้งรัก ทั้งเคารพ และผูกพันด้วยทำร้ายเอา เราเลยรู้สึกเจ็บและสะเทือนใจมากกว่าการทะเลาะกับคนอื่น

การที่เราทะเลาะหรือมีปัญหากับคนที่บ้านบ่อยๆ ทำให้เรารู้สึกว่าบ้านไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัย ไม่ใช่ที่ที่อุ่นใจ ไม่ใช่ที่ที่พักใจหรือหาที่พึ่งพิงทางใจได้ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครที่อยากจะตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะกับคนอื่นหรอก ไม่มีใครสนุกกับการทะเลาะกับคนในบ้าน เพราะสุดท้ายก็นั่นแหละ เพราะเราก็ได้ชื่อว่าเป็นครอบครัวเดียวกันอยู่ดี

  1. ช่องว่างระหว่างวัย

ปัญหาที่ตามรังควานคนทุกยุคทุกสมัย เป็นการเห็นต่างกันในเรื่องต่างๆ สิ่งที่เป็นความเชื่อเก่ากับความคิดใหม่ของคนที่ช่วงวัยห่างกัน ด้วยคนละเจเนอเรชันเติบโตมาไม่เหมือนกัน ปัจจัยทางสังคมก็ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ในการเจอโลกที่ต่างกันทำให้มีความคิดความเชื่อคนละแบบ ช่องว่างที่ไม่สามารถอุดได้จึงสร้างปัญหาให้กับคนต่างวัยได้เสมอ ผู้ที่อาวุโสกว่าจะมองเด็กๆ ว่าเป็นพวกเด็กเมื่อวานซืน ฟันยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม และตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน ในขณะที่เด็กๆ ก็มองว่าผู้ใหญ่หัวโบราณ ไม่ปรับตัว ยิ่งถ้าต่างฝ่ายต่างสุดโต่ง ก็ยากที่จะปรับเข้าหาให้เข้าใจกัน

 

  1. เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดเต็มที่และไม่เปิดใจรับสิ่งที่แตกต่าง

ความที่ใกล้ชิดกันมาก อาจทำให้ความเกรงใจกันน้อยลง ลักษณะเดียวกันกับที่เราจะเกรงใจเจ้านายที่ทำงานมากกว่าคนในบ้าน เพราะว่านั่นคือคนอื่นที่ถ้าเราทำไม่ดีเขาก็เขี่ยเราทิ้งได้ทุกเมื่อ แต่กับคนในบ้านเรารู้ดีว่าไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไรคนในบ้านก็รับได้ไม่ถือสา อีกอย่างคือคนในบ้านไม่ได้ผูกพันกันด้วยผลประโยชน์ เวลาที่มีเรื่องไม่เข้าใจกันต่างฝ่ายจึงมีทิฐิสูง ยอมแพ้ไม่ได้ จะต้องเอาชนะกันด้วยความเชื่อมั่นในความคิดความเชื่อของตัวเองเต็มที่ ทั้งที่รู้ดีแก่ใจว่ามันก็ไม่ได้ถูกต้องไปเสียหมด ทั้งยังไม่เปิดใจรับสิ่งที่ต่างจากที่ตัวเองเชื่อ เพราะกลัวจะเสียเชิง

 

  1. ไม่ยอมรับผิดและขอโทษไม่เป็น

โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ใหญ่ หลายๆ คนจะมีความคิดว่าเพราะตัวเองอายุมากกว่า เจอโลกมามากกว่า ตัวเองจึงถูกเสมอ ไม่มีทางที่จะผิด แต่พวกเด็กๆ เพิ่งเคยเจอโลก จะมาริอ่านกล่าวโทษหรือสั่งสอนผู้ใหญ่นั้นไม่ได้ ทั้งที่ความจริงโลกเปลี่ยนไปทุกวัน ประสบการณ์ชีวิตที่น้อยกว่าไม่ได้แปลว่าเด็กจะต้องรู้น้อยกว่า แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะรู้มาแบบผิดๆ เสมอไปด้วย ในเมื่อทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ ถ้ารู้ว่าตัวเองผิด การเอ่ยคำขอโทษก็ไม่ได้ทำโลกแตก ไม่ได้ทำให้เสียความน่าเชื่อถือ คนเราผิดกันได้ ผิดก็แค่ยอมรับและขอโทษเท่านั้นเอง เรื่องทุกอย่างจะเบาลง

 

  1. เลือกที่รักมักที่ชัง

สร้างความขัดข้องเคืองใจให้กับคนที่อยู่ในสถานภาพด้อยกว่าได้เสมอ จริง ๆ คนเรามีอคติอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วแม้จะกับคนในบ้านก็ตาม ชอบคนนี้มากกว่าเพราะคนนี้ใจดี ตามใจตลอด รักคนนี้น้อยกว่าเพราะชอบดุ แต่การแสดงออกชัดเจนย่อมทำให้ฝ่ายที่ต้องตกเป็นรองตลอดและรู้สึกได้ว่าไม่ยุติธรรมเลยกับการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันขนาดนี้ เช่น พ่อแม่รักลูกที่เป็นพี่น้องไม่เท่ากัน อาจทำให้พี่น้องอิจฉากันเองและไม่ชอบขี้หน้ากัน เพราะตัวเองเป็นรองเสมอ รู้สึกว่าอะไรก็ต้องแข่งขันเพื่อให้ได้รับความรัก และเด็กก็จะผูกใจเจ็บกับผู้ใหญ่ที่เลือกปฏิบัติให้เขาต้องด้อยเสมอด้วย

 

  1. พูดจาเหน็บแนมบั่นทอนกันเสมอ

ไม่มีใครในบ้านอยากได้ยินสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวพูดถึงตัวเองในแง่ลบ ตำหนิ ดุด่าโดยไม่มีเหตุผล หรือชอบพูดแซะแบบลอยๆ ชอบเหน็บแนมบั่นทอนจิตใจ แบบจงใจแกล้งพูดขึ้นมาให้กระทบอีกฝ่าย โดยเกิดขึ้นจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล เพราะคำพูดทำนองนี้แค่ได้ยินก็หงุดหงิดมีน้ำโหแล้ว ใครมันจะไปทนฟังได้โดยไม่ตอบโต้ ทุกคนควรเข้าใจว่าใครๆ ก็อยากได้ยินคำชมเชย คำพูดรื่นหู หรือกำลังใจจากคนในบ้านมากกว่าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่าหาเรื่องคนในบ้านด้วยคำพูดลอย ๆ ที่ตั้งใจให้กระเทือนใครแบบนั้น หากมีเรื่องไม่พอใจก็พูดเคลียร์กันตรงๆ ดีกว่า

 

  1. รู้สึกว่าพึ่งพาหรือช่วยเหลือไม่ได้

หลายคนเลยทีเดียวที่รู้สึกว่าการขอความช่วยเหลือหรือการพึ่งพาคนในบ้านเป็นเรื่องที่ยาก สังเกตได้ง่ายๆ จากการที่มีปัญหาอะไรก็มักจะไม่ปรึกษาคนในบ้านหรือเน้นขอความช่วยเหลือคนนอกบ้านมากกว่า ถ้าไม่ใช่เหตุผลเพราะเกรงใจ ไม่อยากทำให้ครอบครัวลำบาก ก็เป็นเพราะว่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้รู้สึกว่าสมาชิกคนอื่นๆ พึ่งพาได้ โดยเป็นบทเรียนจากเรื่องที่เกิดมาตั้งนานแล้วแต่จำฝังใจ เก็บความน้อยใจเอาไว้ อย่างเช่นการที่ไหว้วานฝากฝังให้ทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้หน่อย แต่ก็โดนเมิน หรือไม่ให้ความร่วมมือเสมอ หรือช่วยแบบส่งๆ ขอไปที ไม่เต็มใจ มันก็ทำให้รู้สึกแย่ได้

 

  1. บกพร่องเรื่องการเคารพและให้เกียรติกัน

การเคารพและให้เกียรติ ไม่ได้แปลว่าจะมีแต่ผู้ที่อาวุโสเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ์นี้ ในฐานะที่ผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าก็เป็นสมาชิกในบ้านและมีสถานะเป็นบุคคลคนหนึ่ง มีหัวจิตหัวใจเหมือนกัน ไม่ว่าจะเด็กแค่ไหน พวกเขาก็ต้องการให้ผู้ใหญ่เคารพและให้เกียรติในชีวิตและตัวตนของเขาเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่ให้กราบไหว้เด็ก แค่ไม่ล่วงเกิน ล่วงละเมิดในชีวิตของเด็ก แต่บ้านคนไทยไม่ค่อยเคารพและให้เกียรติผู้น้อยเท่าไรนัก เพราะมองว่าเป็นเด็ก ผู้ใหญ่มีบุญคุณหรือเป็นเจ้าชีวิต ดังนั้นแค่เริ่มง่ายๆ คือไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่อยากจะทำอะไรก็ทำ ควรที่จะถามความเห็นหรือความสมัครใจของผู้น้อยก่อน

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Pinterest: @Lifeelevatedclub

Blog สสส.: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment