Home Body ไขมัน…ต้นเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทย

ไขมัน…ต้นเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทย

by Lifeelevated Admin2

ด้วยไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน ต้องแข่งกับเวลา ทำงานหนัก ใช้ชีวิตรีบเร่ง เครียด ขาดการออกกำลังกาย หลงลืมเรื่อง “สุขภาพ” เปิดโอกาสให้โรคภัยไข้เจ็บแวะเวียนเข้ามาทักทาย ซึ่งโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยอดนิยมที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งและอุบัติเหตุก็คือโรคหลอดเลือด “สมอง – หัวใจ” ซึ่งเป็นโรคที่มักจะมาโดยเราไม่ทันตั้งตัว และไม่มีการเตือนล่วงหน้า

รู้จักกับโรคหลอดเลือด “สมอง – หัวใจ”

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

ชื่ออาจไม่คุ้นหู แต่หากบอกว่า “อัมพาต” เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก เพราะพบมากขึ้นจากสภาวะความเครียดในปัจจุบัน โดยอัมพาตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยอัมพาตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันก็คือ การที่สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ซึ่งเกิดจาก 3 สาเหตุหลักด้วยกันคือ หลอดเลือดในสมองตีบ หลอดเลือดในสมองอุดตัน และเลือดออกในสมอง ก่อนส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตในระยะต่างๆ ตามความรุนแรงของโรค

สถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย ปี 2559 – 2561

ปี ป่วย (คน) เสียชีวิต (คน)
2559 293,463 31,685
2560 304,807 31,172
2561 331,086 30,837

ข้อมูล : กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สํานักปลัดกระทรวงสาธารณสุข

“โรคหลอดเลือดสมอง” ส่งผลต่อ “สมอง” มากกว่าที่คิด

สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา
อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย
ปัญหาการพูด การเข้าใจภาษา และการกลืน สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง
สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สูญเสียการตัดสินใจ ทำสิ่งต่างๆ โดยไม่วางแผน
เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง

โรคหลอดเลือดหัวใจ

สาเหตุมาเกิดจากการเกาะของคราบไขมัน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่างๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการปวดเค้นที่หัวใจ (Angina) หากการอุดตันหลอดเลือดแดงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน (Heart Attack) จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการที่สืบเนื่องจากการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 1.7 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่ม 3.5 เท่า ส่วนผู้ป่วยที่เป็นทั้งเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกมีโอกาสเป็นถึง 4.9 เท่า

สถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจในประเทศไทย ปี 2559 – 2561

ปี ป่วย (คน) เสียชีวิต (คน)
2559 327,453 21,008
2560 326,946 20,746
2561 337,441 20,786

ข้อมูล : กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สํานักปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

“การลงทุนที่สำคัญที่สุดคือการลงทุนกับตัวเอง”

วลีทองของคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ของโลก ที่สอนให้เราลงทุนในตัวเองในเรื่อง “เวลา” และ “ความรู้” ซึ่งสองอย่างนี้ไม่มีใครสามารถทำแทนใครได้

เราจึงจำเป็นต้องบริหาร “เวลา” ที่เป็นทรัพยากรมีค่าอันมีอยู่อย่างจำกัดและใช้มันหา “ความรู้” เพื่อพัฒนาตัวเองให้บรรลุเป้าหมายในชีวิต

นอกจาก “เวลา” และ “ความรู้” แล้ว “สุขภาพ” คืออีกสิ่งที่เราต้องลงทุนกับตัวเอง

หากพิจารณาในแง่ “การลงทุน” การที่เรามีสุขภาพกายและใจที่ดี ก็เปรียบเสมือนกับการที่เรามีสินทรัพย์คุณภาพอยู่กับตัว เป็นสินทรัพย์ที่ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดคุณค่ากับตัวเรา ไม่ทำให้เจ็บป่วยง่าย หากยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่เราไปได้อีกนานแสนนานด้วย

ประเด็นสำคัญคือ เราต้องรู้จักลงทุนดูแลรักษาสินทรัพย์นี้ให้อยู่กับเราไปนานๆ ตรงนี้เองที่สามารถนำหลักการลงทุนมาประยุกต์ใช้ได้

การลงทุนสุขภาพ

เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว จึงศึกษาหาทางเลือกต่างๆ ว่าเราสามารถทำอย่างไรได้บ้าง อาจเริ่มจากการใส่ใจในเรื่อง “อาหารการกิน” ควบคู่ไปกับ “การออกกำลังกาย” เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น แล้วก็ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

เป้าหมายการลงทุน

สุขภาพกาย + สุขภาพใจดี = สินทรัพย์คุณภาพ

เมื่อเรา “รู้จักข้อจำกัดของตนเอง” แล้วก็ย่อมสามารถตัดสินใจ “เลือกลงทุน” ซึ่งการเลือกลงทุนมีมากมายหลากหลายวิธีให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของตัวเอง หลังจากนั้นบริหาร “สมดุล” ให้เกิดขึ้นทั้งกับ “สุขภาพกาย” และ “สุขภาพใจ” ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

การนำหลัก “การลงทุน” มาประยุกต์ใช้กับ “การดำเนินชีวิต” ก็เพื่อสร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจของเราให้แข็งแรงตามเป้าหมาย ซึ่งการลงทุนที่ว่านี้มีแต่ “กำไร” ไม่ต้องกลุ้มเรื่องขาดทุน

.

.

.

อ้างอิง :

http://www.thaincd.com/2016/mission3

https://mgronline.com/qol/detail/9580000048931

https://vibhavadi.com/health696

https://www.bumrungrad.com/th/conditions/stroke

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/850

https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/health-investment

https://www.wealthythai.com/web/contents/WT190600252

https://storylog.co/story/58fdf73200955c4b6f9ffc9f

https://bit.ly/3kevMXZ

https://bit.ly/37k7Ize

Related Articles

Leave a Comment