Home Body “ออฟฟิศซินโดรม” ปวดไม่หาย ต้องลองใช้วิธี “ฝังเข็ม” ทำการรักษา

“ออฟฟิศซินโดรม” ปวดไม่หาย ต้องลองใช้วิธี “ฝังเข็ม” ทำการรักษา

by Lifeelevated Admin1

รักษามาหลายวิธีก็ไม่หาย มาลองฝังเข็มรักษาออฟฟิศซินโดรมกันไหม รักษาตามแบบฉบับของแพทย์แผนจีนดูบ้าง โดยไม่ต้องใช้การทานยาหรือฉีดยาให้มีสารตกค้างในร่างกาย การฝังเข็มนั้นสามารถรักษาได้หลากหลายโรค โดยเฉพาะโรคออฟฟิศซินโดรมก็ช่วยได้เช่นกัน โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการเบื้องต้นจากการถามอาการและจับชีพจร จากนั้นจึงทำการฝังเข็มลงบนจุดและเส้นต่างๆ บนร่างกายที่มีอาการเจ็บป่วย ซึ่งวิธีการนี้ช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลม ทำให้กล้ามเนื้อที่ปวดเกิดการคลายตัวและลดการอักเสบ ใครยังไม่เคยลอง ต้องลองสักครั้ง

 

“ฝังเข็ม” รักษาออฟฟิศซินโดรม

กลุ่มอาการเจ็บปวดจากโรคออฟฟิศซินโดรมนั้น เป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญ และปัญหาในการทำงานของคนสมัยนี้ไม่ใช่น้อย คนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ นั่งก้มๆ เงยๆ ติดต่อกันวันละหลายๆ ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว หลายคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีการดูแลตนเอง หรือไม่รู้จักสาเหตุของโรคที่แท้จริง คนไข้ที่มาหาหมอที่แผนกทุยหนาส่วนใหญ่ก็มาด้วยอาการสะสมจากการทำพฤติกรรมซ้ำๆ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังแบบ “ออฟฟิศซินโดรม” ซึ่งไม่เป็นผลดี ปล่อยเอาไว้นาน ไม่รักษาและไม่ปรับพฤติกรรมก็อาจจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ

“ฝังเข็ม” เป็นหนึ่งในแนวทางรักษาโรคของแพทย์แผนจีน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมและปรับสมดุลของร่างกาย เพราะแพทย์แผนจีนเชื่อว่าหากเลือดลมไหลเวียนดี อวัยวะต่างๆ ก็ทำงานได้ไม่ติดขัด

อาการของออฟิศซินโดรม ที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่และส่วนต่างๆ ปวดเรื้อรังจากการหดเกร็งอยู่ในท่าเดิมนานๆ ทำให้เลือดลมที่กล้ามเนื้อไหลเวียนไม่สะดวก โดยแพทย์จีนจะใช้เข็มเล่มเล็กๆ เป็นตัวช่วยสำคัญที่ใช้ในการรักษาและบรรเทาอาการได้

 

วิธีการรักษาด้วยการฝังเข็ม

แพทย์จีนตรวจชีพจร ดูลิ้นและซักประวัติผู้ป่วยคนหนึ่งที่มีอาการปวดเมื่อยบริเวณ คอ บ่า ไหล่และนิ้วล็อค จากท่านั่งใช้คอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน การรักษาด้วยวิธีฝังเข็มจึงเริ่มขึ้น โดยเข็มขนาดเล็กถูกฝังลงผิวหนังตามจุดเส้นลมปราณ ที่ผู้ป่วยมีอาการปวด เริ่มตั้งแต่ต้นคอ ไหล่และหลังมือ การฝังเข็ม จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวดี ซึ่งแพทย์ด้านการฝังเข็มและยาจีน อธิบายว่า เข็มเล็กๆ ที่แทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด เพราะมีเลือดคั่งให้ไหลเวียนดีขึ้นได้ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือได้รับความเสี่ยงจากสารเคมีในการรักษา

“การฝังเข็มเป็นหัตถการอย่างนึงที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้กล้ามเนื้อที่ปวดเกิดการคลายตัวและลดการอักเสบ ประสิทธิภาพการรักษาเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่อาจมีอาการช้ำหรือปวดตึง 2-3 ชั่วโมงหลังการฝังเข็ม ถือว่าได้ผลคุ้มค่า เมื่อคนไข้ปวดน้อยลงและไม่ต้องทานยา ก็จะช่วยรักษาอวัยวะภายในที่จะได้รับความเสี่ยงจากการใช้ยาด้วย” แพทย์ด้านการฝังเข็มฯ กล่าว

นอกจากนี้แล้วการฝังเข็มไม่ได้จำกัดเฉพาะรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อจากออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการดูแลสุขภาพและบำบัดโรคต่างๆ อย่างโรคไขข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ แม้ว่าการฝังเข็มจะไม่สามารถทำให้ข้อเข่าที่เสื่อมสึกหรอในผู้สูงอายุกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม แต่ก็สามารถอาศัยฤทธิ์การฝังเข็มช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ คลายการหดเกร็งและทำให้กล้ามเนื้อของผู้สูงอายุแข็งแรงขึ้นได้

แพทย์จีน ยังระบุอีกว่า ประสิทธิภาพและความถี่ในการบำบัดและรักษากล้ามเนื้อด้วยวิธีฝังเข็มขึ้นอยู่กับอาการและความเห็นของแพทย์ อย่างกรณีของผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมเฉียบพลัน ไม่ได้ปวดเรื้อรัง การฝังเข็มอาจเห็นผลในครั้งแรกๆ ที่รักษา แต่ถ้าผู้ป่วยกลับไปนั่งท่าเดิมและใช้กล้ามเนื้อหนัก อาการปวดอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

นอกจากโรคที่เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อแล้ว ปัจจุบันศาสตร์การรักษาด้วยการฝังเข็มได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก ว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ทั้งโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งอาการปวดประจำเดือน โดยรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็มีข้อควรระวังในกลุ่มคนที่มีสถาพร่างกายอ่อนแอมากๆ อย่างหญิงตั้งครรภ์ คนที่มีความดันโลหิตสูง กินยาสลายลิ่มเลือด หรือผิวหนังอักเสบติดเชื้อ แพทย์แนะนำว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรรักษาด้วยการฝังเข็มเพราะอาจเกิดอันตรายได้

 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะฝังเข็ม

  1. ก่อนฝังเข็ม ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยรับประทานอาหารก่อน 1-2 ชั่วโมง
  2. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  3. หลังฝังเข็ม เมื่อแพทย์ถอนเข็มออกอาจมีเลือดออกเล็กน้อย ให้ใช้สำลีกดไว้สักครู่เลือดจะหยุดไหลไปเอง
  4. หลังเสร็จการรักษา คนไข้สามารถอาบน้ำ เล่นกีฬา หรือรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  5. การฝังเข็มสามารถรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ ดังนั้นคนไข้จึงสามารถทานยา หรือรักษาตามแนวทางแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วยได้
  6. ผู้ไม่ควรฝังเข็ม ได้แก่ สตรีมีควรรภ์, ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เมื่อเลือดไหลแล้วหยุดไหลยาก, รวมถึงผู้รับประทานยาสลายลิ่มเลือด ที่ทำให้เลือดแข็งตัวยาก

การฝังเข็มเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาตามแนวทางแพทย์แผนจีน โดยการใช้เข็มปักเข้าไปยังตําแหน่งต่างๆ ของร่างกาย ในตําแหน่งที่เป็นจุดเฉพาะ เพื่อการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และป้องกันโรค

การรักษาด้วยการฝังเข็ม ทําโดยการใช้เข็มที่ทําด้วยสแตนเลสผ่านการฆ่าเชื้อและใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง ปักเข็มทะลุผิวหนัง ตรงจุดฝังเข็ม ตามแนวเส้นลมปราณที่ตรงกับอาการของโรคและอาจกระตุ้นด้วยมือหรือกระแสไฟฟ้า

 

ผลที่ได้จากการรักษาด้วยการฝังเข็ม

  • กระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารต่างๆ ในระบบประสาท ฮอร์โมน และกลไกของร่างกายทั้งหมด ทําให้เกิดฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด ลดการอักเสบ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ปรับปรุงการทํางานของระบบประสาท และสมอง
  • กระตุ้นให้มีการปรับตัวของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมเส้นเลือดและการทํางานของอวัยวะภายในร่างกาย จึงเป็นผลช่วยรักษาภาวะที่อวัยวะต่างๆ ขาดเลือดหล่อเลี้ยง และปรับสมดุลของร่างกาย

แต่อย่างไรก็ตามการฝังเข็ม อาจทําให้เกิดผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • ภาวะเมาเข็ม หรือเป็นลม

อันเป็นผลจากการตื่นเต้น กลัวเข็มร่างกายอ่อนเพลีย ท้องว่าง หรืออิ่มมากเกินไป ควรพักผ่อน ให้เพียงพอ และรับประทานอาหารก่อนการฝังเข็ม 1-2 ชั่วโมง โดยไม่ควรรับประทานอาหารจนอิมมากเกินไป ซึ่งในขณะฝังเข็มจะมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด

  • เข็มคาติดเนื้อ เข็มงอ เข็มหัก อันเป็นผลจากการขยับ

กล้ามเนื้อบริเวณที่ฝังเข็มขณะคาเข็ม ซึ่งทางโรงพยาบาล ได้ให้การป้องกันโดยจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่สบายเพื่อลดการ ขยับและให้คำแนะนําไม่ให้ขยับตัวขณะฝังเข็ม

  • ปวดบริเวณรักษา อันเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว

ซึ่งอาการปวดจะทุเลาลงประมาณ 2- 3 ชั่วโมงหลังการฝังเข็ม

  • ผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก คือการเกิดเลือดออกเล็กน้อย

ใต้ผิวหนัง ซึ่งจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ไม่จําเป็นต้องรักษา

 

การรักษาแบบอื่นตามแนวทางแพทย์แผนจีน

  1. ครอบแก้ว
  2. กวาชา
  3. รมยา
  4. การใช้ยาสมุนไพรจีน
  5. การรักษาโรคตามแนวทางแพทย์แผนปัจจุบัน

หากผู้ป่วยมารับการรักษาต่อเนื่องร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนําของแพทย์ จะทําให้ผลการรักษา มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

ข้อควรปฏิบัติหลังฝังเข็ม

  1. ในระยะแรกหลังการฝังเข็มอาจมีอาการอ่อนเพลีย ควรพักผ่อน อย่างเต็มที่ 1-2 วัน เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุล
  2. หากมีไข้ต่างๆ หลังการฝังเข็ม ให้รับประทานยาลดไข้ตามปกติ อาการจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยไม่มีอันตรายใดๆ
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นเป็นเวลา 1 วัน
  4. งดการอาบน้ำหรือตากแอร์เย็น เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากฝังเข็ม
  5. แพทย์จะนัดมาฝังเข็ม อีกภายใน 2 วัน หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติ ให้มาพบแพทย์ก่อนเวลานัดหมาย
  6. อาการผิดปกติที่ควรโทรสอบถามหรือมาพบแพทย์ เช่น มีเลือดออกมากผิดปกติ บวม แดง ร้อน มากผิดปกติ ปวดรุนแรงบริเวณจุดฝังเข็ม หรือมีไข้สูง

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

#LifeElevated #ออฟฟิศซินโดรม #OfficeSyndrome

.

อ้างอิง :

https://www.phyathai.com/article_detail/1672/th/%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%A1…%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%A1?branch=PYT2

https://www.xinglintcmclinic.com/office-syndrome

https://kasemradtcm.com/health-content/123-170122-office-syndrome

https://www.princsuvarnabhumi.com/content-office-syndrome/

Related Articles

Leave a Comment