Home Family “ความรัก” พลานุภาพพลิกชีวิต

“ความรัก” พลานุภาพพลิกชีวิต

by Lifeelevated Admin2

ย้ายไปทำงานเมืองใหญ่แล้วไม่ใช่คำตอบของชีวิต

งั้นก็กลับบ้านเราพัฒนาถิ่นเกิด

อาจเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ของผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยากให้คนรุ่นเหลียวหลังกลับมามองบ้านเกิดของตัวเอง แต่ด้วยเหตุผลหลายประการทั้งเรื่องของค่านิยม ความรู้สึก ค่าตอบแทน รวมถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในเมืองความสะดวกสบายมีมากกว่า จึงไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่อยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมืองนอนตัวเอง

สิบกว่าปีที่แล้ว หมู่บ้านทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ยังเป็นสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่ทำนา ปลูกข้าวโพด และใบยาสูบ ตลอดทั้งปีไม่มีการหยุดพักบำรุงรักษาสภาพดิน พ่นยาฆ่าแมลงทุกฤดูกาล สุขภาพเกษตรกรจึงพลอยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ชายในฐานะหัวหน้าครอบครัวต้องจากไปด้วยโรคภัยก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นผลพวงจากยาฆ่าแมลงและมลพิษจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร จนหมู่บ้านทุ่งศรีในอดีตจึงถูกเรียกขานว่า “หมู่บ้านแม่ม่าย”

ในปี 2548 นายธีรวัฒน์ ต๊ะวิกา วิศวกรหนุ่มตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มุ่งหน้ากลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อนำความรู้วิศวกรรมด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ของบ้านทุ่งศรี หวังฟื้นฟูปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเริ่มจากรวมกลุ่มสูงอายุที่ปลดระวางจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวกลุ่มเล็กๆ มาช่วยกันสร้างวิถีเกษตรยั่งยืน

ที่กลับมาเพราะรัก..บ้านเกิด

โจทย์แรกที่ผู้ใหญ่ธีรวัฒน์ต้องแก้ก็คือ “ปัญหาสุขภาพ” เพราะเป็นปัญหาร่วมของคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาไร่ข้าวโพด และยาสูบ หลังจากทำให้คนในบ้านทุ่งศรีเห็นความสำคัญของการเลิกเผา

คนในชุมชนก็มีสุขภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ผู้ใหญ่ธีรวัฒน์ยังมุ่งมั่นเขียนโครงการส่งไปตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางพัฒนาชุมชน แก้ไขปัญหาปากท้อง เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน

ปัญหาปากท้องคลี่คลาย ก็เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

ชาวบ้านจึงเริ่มเปิดรับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ โดยในปี 2553 จึงเกิดกระบวนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ทุกครัวเรือนต้องคัดแยกขยะที่บ้านตัวเอง พร้อมประกาศตัวเป็นหมู่บ้านที่ไม่ “ส่งเงินค่าเก็บขยะ” และ “คืนถังขยะ” กลับไปให้เทศบาลทั้งหมด จากนั้นมีการตั้ง “กองทุนถุงดำ” จัดเก็บขยะมารวมกันเพื่อคัดแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ก่อนนำไปขาย แปรรูป หรือใช้ประโยชน์ซ้ำ

วิธีการจัดการขยะของบ้านทุ่งศรี

  1. 1. ขยะประเภทที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลสร้างรายได้แก่ชุมชน เช่น หมวก แจกัน พวงกุญแจ ของชำร่วย หรือของที่ระลึกต่างๆ เกิดเป็นอาชีพหลังพาชาวบ้านไปฝึกอบรม
  2. 2. ขยะประเภทนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถขายให้กับเทศบาลหรือพ่อค้ารับซื้อของเก่าทั่วไป อาทิ พลาสติก กระดาษ หรือขยะอันตรายให้นำไปทิ้ง ณ จุดที่กำหนดไว้
  3. 3. ขยะประเภทเศษอาหารนำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก หรือนำไปเลี้ยงไส้เดือนพันธุ์แอฟริกาไนท์ เพื่อนำดินมูลไส้เดือนมาเพาะปลูก เช่น เมล่อน องุ่น มะเขือเทศ เป็นต้น
  4. 4. ขยะประเภทกระดูกและเศษเนื้อนำไปให้สุนัขกิน รวมถึงขยะประเภทเศษเปลือกผลไม้หรือผักนำไปเป็นอาหารแม่พันธุ์โค เมื่อได้มูลโคจะนำไปทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ทุกวันนี้แต่ละบ้านแทบไม่เหลือขยะให้ต้องทิ้ง

แนวคิดผู้ใหญ่บ้าน + ความร่วมมือของลูกบ้าน กลายเป็นความสำเร็จอันน่าชื่นชม

“บ้านทุ่งศรี” กลายเป็นชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพของลูกบ้านดีขึ้น มีคนนอกหมู่บ้านมาดูงาน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และเปิดการท่องเที่ยวโฮมสเตย์

ผู้ใหญ่ธีรวัฒน์ได้นำแนวคิดใหม่ดังกล่าวมาพัฒนาหมู่บ้าน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศทำงาน และนำพาให้ชุมชน “อยู่พอดี มีพอใช้ ใจเป็นสุข” จนส่งผลให้ได้รับรางวัลอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ดีเด่นระดับประเทศ ด้านการจัดการขยะมูลฝอย ประจำปี 2562

คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีคุณภาพชีวิตคนในหมู่บ้านก็ดีด้วย

 

รางวัลอื่นๆ ที่หมู่บ้านทุ่งศรีได้รับ

  • ได้รับรางวัลชนะเลิศ Zero Waste (การจัดการขยะ) ประจำปี 2555 จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • รางวัลลดเมืองร้อนด้วยมือเราปี 2557 การส่งเสริมเทศบาลตำบลร้องกวางเป็นเทศบาลน่าอยู่ของจังหวัด หมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะและการส่งเสริมการท่องเที่ยวโฮมสเตย์

 

อ้างอิง :

https://www.thaiquote.org/content/237559

https://www.facebook.com/615167258514385/posts/3228348897196195/

https://www.facebook.com/igreenstory/posts/2431609757154923/

http://modernagri.blogspot.com/2011/07/blog-post.html

https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/smart-farming.html

Related Articles

Leave a Comment