Home Society ‘RCEP’ อีกหนึ่งความหวังเมืองไทย ฟื้นเศรษฐกิจสู้วิกฤตโควิด

‘RCEP’ อีกหนึ่งความหวังเมืองไทย ฟื้นเศรษฐกิจสู้วิกฤตโควิด

by Lifeelevated Admin1

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (เอเชียแปซิฟิก) RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศอาเซียนรวมกับอีก 5 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ถือเป็นข้อตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากครอบคลุมประชากรโดยรวมกว่า 2,270 ล้านคน สร้าง GDP มูลค่า 5.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP ทั่วโลก นอกจากนี้ไทยเองก็มีการค้าขายกับประเทศสมาชิกใน RCEP มากถึง 2 ใน 3 ของปริมาณการค้าทั้งหมดของประเทศไทย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 64 สำนักเลขาธิการอาเซียนประกาศว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และ 4 ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ได้ยื่นสัตยาบันอย่างเป็นทางการให้แก่เลขาธิการอาเซียนแล้ว

ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องมีไม่น้อยกว่า 6 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศนอกสมาชิกอาเซียนที่มี 5 ประเทศ อย่างน้อย 3 ประเทศร่วมให้สัตยาบัน อันมีผลให้ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป

ซึ่งจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในวงการเศรษฐกิจจีนต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าหลังจาก RCEP มีผลบังคับใช้จะส่งผลเชิงบวกกับกลุ่มประเทศสมาชิก เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่หนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลก เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุม ทันสมัย คุณภาพสูง และเป็นประโยชน์ร่วมกัน สามารถใช้เป็นแรงกดดันในการแข่งขันระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของวิสาหกิจกลุ่ม RCEP ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจจีนและชาติสมาชิกพัฒนาในทางคุณภาพสูงอย่างยั่งยืน

โดยมาตรการต่างๆ เช่น การยกเลิกอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร การอำนวย ความสะดวกด้านการค้า และการลดภาษี โดยมากกว่าร้อยละ 90 ภาษีศุลกากรจะเป็นศูนย์ทั้งในรูปแบบลด ภาษีศุลกากรเป็น 0 ทันที และเป็น 0 ภายใน 10 ปี ซึ่งสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกแล้ว การลดภาษีเป็น 0 จะช่วยกระตุ้นการส่งออก การค้าสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเสรี เป็นแรงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังโควิด 19 อย่างแข็งแกร่ง

ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้ ผู้ประกอบการชาติสมาชิก RCEP ต้องตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างมากขึ้นและการแข่งขันที่ดุเดือด ในมุมมองการแข่งขัน สินค้าที่ได้เปรียบด้านต้นทุนและเทคโนโลยีของต่างประเทศจะเข้ามาในตลาดตนเองมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องเพิ่มการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในขณะที่ต้องควบคุมต้นทุน และควบคุมคุณภาพสินค้า ต้องใช้สิทธิประโยชน์ประเทศในกลุ่มสมาชิก RCEP อย่างเต็มที่ทั้งสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษทางภาษี 0 แหล่งกำเนิดสินค้า การบริการที่มีคุณภาพสูง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาตลาดในประเทศและต่างประเทศซึ่งกันและกัน

หลังจากไทยได้ยื่นให้สัตยาบัน RCEP ต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 64 คาดว่า ม.ค. 65 RCEP จะมีผลบังคับใช้เนื่องจากจำนวนประเทศผู้ยื่นสัตยาบันได้ยื่นครบตามที่กำหนด ผู้ประกอบการทั้งไทยและในกลุ่มประเทศสมาชิก ต่างต้องเร่งปรับตัวและศึกษาสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

โดย RCEP มีแน้วโน้มจะกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวด้านการค้าและบริการ การลงทุน แรงงาน การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม เนื่องจากมีโอกาสไหลเวียนเคลื่อนย้ายภายในชาติสมาชิกอย่างเสรี

ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยกระดับศักยภาพการแข่งขันในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับ สินค้าและบริการที่ดี และมีคุณภาพอย่างมีทางเลือก ผู้ประกอบการควรต้องเร่งปรับตัวไขว่คว้าโอกาสจากสิทธิประโยชน์ต่างๆ

รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเคลื่อนย้ายไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุน ทรัพยากร คน และอื่นๆ ในขณะเดียวกันต้องเผชิญความกดดัน – ไม่หยุดการพัฒนา ต้องเร่งการวิจัยและพัฒนาโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เหมือนกับที่จีนได้เตือนผู้ประกอบการในประเทศ ให้ใช้แรงกดดันที่เกิดขึ้นเป็นพลังในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นความหวังในการการฟื้นฟูและขยาย เศรษฐกิจหลังเหตุการณ์โควิด 19 และต้องไม่หยุดที่จะวิจัยและพัฒนา

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @_lifeelevated_

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @Lifeelevated

Blockdit: Life Elevated

.

.

#LifeElevated #ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก #RCEP #เขตการค้าเสรี #FreeTradeArea #FTA #RegionalComprehensiveEconomicPartnership

.

.

อ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

https://www.zgswcn.com/article/202111/202111080933101016.html

Related Articles

Leave a Comment