Home Body “ถุงน้ำยาล้างไต” ไร้ค่า..สู่ “ที่นอนลม” มข. คิด..เพื่อผู้ป่วยติดเตียง

“ถุงน้ำยาล้างไต” ไร้ค่า..สู่ “ที่นอนลม” มข. คิด..เพื่อผู้ป่วยติดเตียง

by Lifeelevated Admin2

“ไทย” กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

“คนไทย” อายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น มีอัตราการเกิดและการตายลดลง กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด ปี 2562

ลำดับ จังหวัด จำนวน (คน)
1. กรุงเทพมหานคร 1,063,871
2. นครราชสีมา 453,388
3. เชียงใหม่ 333,692
4. ขอนแก่น 312,933
5. อุบลราชธานี 276,628

ที่มา : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62

“ประชากรสูงวัย” ในปีนี้ ประเทศไทยจะมีจำนวน 12.6 ล้านคนจากจำนวนประชากรรวมทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 19.1 และคาดว่าในปีหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากถึง 312,933 คน (ข้อมูลปี 2562) หรือร้อยละ 17.36 ของประชากรทั้งจังหวัด เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเตียงทั่วประเทศประมาณ 150,000 คน โดยมีผู้สูงอายุที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวนไม่น้อยเกิดปัญหาเมื่อต้องซื้ออุปกรณ์สำหรับการรักษา รวมถึงเตียงที่ใช้สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง

เตียงนอนที่บ้านไม่เหมาะกับผู้ป่วย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่าง “แผลกดทับ” ได้

ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข

กลุ่มวิจัยและออกแบบเพื่อสังคมสูงวัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ดำเนินงานโครงการวิจัยและออกแบบที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต เพื่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง โดยได้มีการส่งมอบที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต จำนวน 10 ชุด ให้กับศูนย์ผู้สูงอายุเทศบาลเมืองศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

นายจตุรพิธ พิมพ์แสง ตัวแทนของทีมผู้ออกแบบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า ทีมคณาจารย์ผู้ออกแบบประกอบด้วย ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน, ผศ.ชลวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร, ผศ.ดร.นยทัต ตันมิตร และอาจารย์อภิญญา อาษาราช ซึ่งเป็นที่ปรึกษาออกแบบ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการทำที่นอนลมเพื่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยภาวะติดเตียงจากถุงน้ำยาล้างไต เพราะปัจจุบันมีการนำขยะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากมาย สร้างมูลค่าให้สูงขึ้นจากการออกแบบเพื่อการใช้งานต่างๆ

ซึ่งขยะในโรงพยาบาลไม่ได้มีเพียงแค่ขยะติดเชื้อ แต่ยังมีขยะที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ โดยเนื้อวัสดุมีความหนา เหนียว ทนทาน อยู่ในสภาพสะอาด ปลอดภัย อย่างเช่น “ถุงน้ำยาล้างไต” เพราะเป็นวัสดุที่ต้องสะอาดอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากต้องนำไปล้างไตซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในร่างกาย

“ถุงน้ำยาล้างไต” กลายเป็นขยะ เมื่อใช้งานเสร็จโรงพยาบาลและญาติผู้ป่วยจะนำไปทิ้ง ทำให้คุณค่าของวัสดุไม่ได้ถูกใช้งานให้เกิดประโยชน์อีกต่อไป ทางคณะผู้ออกแบบได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของถุงล้างไตเหล่านี้ จึงนำมาออกแบบเป็นที่นอนถุงลมเพื่อใช้งานเฉพาะจุด เช่น บริเวณหลังและก้น สามารถดึงออกมาทำความสะอาดหรือดึงออกเพื่อระบายอากาศ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดสำคัญในการเกิดแผลกดทับ

การออกแบบได้คำนึงถึงการกดทับเป็นสำคัญ จึงมีการออกแบบให้มีลอนที่นอนระดับต่างกัน สลับไปมา ทำให้การนอนมีจุดกดทับที่ไม่ใช่ทุกจุด หากบริเวณใดกดทับมากๆ ก็สามารถดึงออกได้ ทำให้ไม่เกิดแผลกดทับจากการนอนติดเตียง

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ศึกษาใน 5 ด้านคือ ในด้านของการจัดการถุงน้ำยาล้างไต ด้านการประกอบที่นอนลม ด้านการทำความสะอาด ด้านกระบวนการใช้งานที่นอนลม และด้านการกดทับของน้ำหนักลงบนที่นอน โดยภาพรวมของที่นอนเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานกลุ่มตัวอย่างแล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียง

          แผลกดทับเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยติดเตียง เพราะส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยแย่ลง กระทบด้านจิตใจ ส่งผลต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาตอบโจทย์เตียงนอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายกลับมาเป็นปกติ

 

อ้างอิง :

http://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/275

https://www.esanbiz.com/30716?fbclid=IwAR3m7gfwyuOFp2sv_Sx8QvcD9gm2_P3HBSSxcoQ-X_eonNUEud43O5RgW14

https://nestcarejob.com/blogs/5thing-to-prevent-bedridden

https://www.posttoday.com/social/general/611715

https://gnews.apps.go.th/news?news=53662

https://www.honestdocs.co/accidents-in-the-elderly

https://www.thebangkokinsight.com/219311/

Related Articles

Leave a Comment