Home Family เลือกของขวัญให้ได้ใจ ต้องใช้ “จิตวิทยา” ช่วย

เลือกของขวัญให้ได้ใจ ต้องใช้ “จิตวิทยา” ช่วย

by Lifeelevated Admin2

เทศกาลตรุษจีน

วันวาเลนไทน์

ให้อะไรเป็นของขวัญดีน้า?

การเลือกของขวัญให้ใครสักชิ้นอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ แล้วกลับซับซ้อนไม่น้อยเลย เพราะเบื้องหลังการเลือกของแต่ละชิ้นนั้นแฝงไปด้วยปัจจัยทาง “จิตวิทยา” มากมาย เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องการหาของชิ้นที่ดีที่สุด แต่เป็นการสื่อสารความรู้สึกของคุณผ่านสิ่งของชิ้นนั้นๆ ไปด้วยเช่นกัน

มีการงานวิจัยศึกษาหลายชิ้นระบุไว้ว่าผู้ให้จะมีความสุขกับการให้ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า The joy of giving แต่จริงๆ ในมุมของผู้รับ การได้รับของขวัญที่เหมาะสมกับเป็นความสุขได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความสุขในแง่ของการได้รับของ แต่เป็นความสุขและความรู้สึกดีที่ได้รับการระลึกถึง การให้ความสำคัญจากผู้ให้ ซึ่งก็นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล ดังนั้นถ้ามองในมุมของผู้รับ การได้รับของขวัญมานั้น ไม่ใช่ประเด็นในเรื่องของการได้ “ของ” แต่เป็นประเด็นในเรื่องของการที่ผู้ให้ได้ให้ความสำคัญและระลึกถึง “เนื่องในโอกาสที่สำคัญ

ดังนั้นการเลือกของขวัญจึงเป็นภารกิจที่ยากอยู่ไม่หน่อย เนื่องจากผู้ให้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในผลตอบแทนจากการให้ของขวัญ ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบของความประหลาดใจหรือความพึงพอใจของผู้รับ หรืออาจจะเป็นเรื่องของความคุ้มค่าคุ้มราคาในสิ่งที่เราได้มอบให้ไปดังนั้น Life Elevated จึงมี 3 จิตวิทยาที่น่าสนใจของการให้ของขวัญมาฝาก

  1. มูลค่ามากน้อยไม่สำคัญเท่าไรในมุมมองของคนรับ

Francis Flynn นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ศึกษาความรู้สึกและความหมายที่มีต่อ “ราคาของขวัญ” โดยพบว่าในมุมมองของคนให้ของขวัญ มีความคาดหวังว่าความรู้สึกและความพอใจของผู้รับจะแปรผันตรงตามราคาของของขวัญ กล่าวคือยิ่งของขวัญมูลค่าสูงยิ่งจะสร้างความพอใจได้มาก แต่ในความเป็นจริงเมื่อทำการทดลองด้วยมุมมองของผู้รับนั้น มูลค่าที่เป็นตัวเงินของของขวัญไม่ได้สัมพันธ์กับความพอใจและความสุขที่ได้รับเท่าไร

แล้วของขวัญแบบใดถูกใจผู้รับมากที่สุด ใช่..ที่มีราคาแพงหรือเปล่า?

เมื่อต้องซื้อของขวัญให้กับคนรู้ใจ หลายคนวิตกกังวลมากกับการเลือกซื้อของที่จะให้ ราคาของขวัญ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากคนเรามักมีความเชื่อว่า หากให้ของขวัญราคาแพง ผู้รับน่าจะเกิดความซาบซึ้งใจและประทับใจมากที่สุด

งานวิจัยของ Schiffman และ Cohn (2008) พบว่า ของขวัญคริสต์มาสระหว่างคู่สามีภรรยานั้น มีความคาดหวังว่าจะต้องแพง และมีลักษณะเฉพาะมากกว่าลักษณะความสัมพันธ์อื่นที่มีการให้ของขวัญกัน นอกจากความคาดหวังของผู้รับแล้ว ผู้ให้เองก็มีความคาดหวังเกี่ยวกับท่าทีของผู้รับเมื่อได้รับของขวัญชิ้นนั้นเช่นกัน กล่าวคือคาดหวังว่าของนั้นจะทำให้ผู้รับซาบซึ้งใจหรือประหลาดใจ ผู้ให้ส่วนใหญ่จึงมักจะรับรู้การให้ของขวัญที่แพงแก่คนรักน่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกได้ดีที่สุด

คำถามที่น่าสนใจคือ ของขวัญที่ดีต้องมีราคาแพงเท่านั้นจริงหรือ ผู้รับจึงจะประทับใจ

จากงานวิจัยของ Adams และ Flynn (2009) เปิดเผยผลการวิจัยที่น่าสนใจว่า ผู้รับของขวัญไม่ได้รู้สึกประทับใจมากขึ้น เมื่อได้รับของขวัญที่มีราคาแพง สาเหตุก็เพราะผู้รับไม่ต้องลงทุนลงแรงทางความคิดมากนัก หมายถึงผู้รับจะเผชิญทางเลือกอยู่เพียงแค่ 2 ทาง คือ ได้รับของขวัญหรือไม่ได้รับของขวัญเท่านั้น ตรงกันข้ามกับผู้ให้ที่ต้องเผชิญกับตัวเลือกมากมายว่าตนจะให้อะไรกับอีกฝ่าย จึงต้องลงทุนลงแรงทั้งกำลังกายและกำลังสมองในการคิด นำไปสู่ความคาดหวังต่อท่าทีของผู้รับ ดังนั้น การให้ของขวัญนั้น ไม่ว่าจะของขวัญราคาแพง หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้ให้ของขวัญแก่คนที่เรารักหรือเปล่า

  1. ของขวัญคือสิ่งที่ส่งสัญญาณบอกใบ้

Barry Schwartz ศึกษาเรื่องความหมายของของขวัญโดยพบว่า “ของขวัญ” เป็นสัญญาณที่เราส่งออกไปเพื่ออยากจะบังคับให้ผู้รับเข้าใจว่าเราเป็นคนอย่างไร เช่น มอบหนังสือเพื่อสะท้อนว่าเราเป็นคนรักการอ่าน ให้อุปกรณ์งานช่างเพื่อบอกว่าเราเชี่ยวชาญงานฝีมือ และนอกจากนี้สิ่งที่เราเลือกซื้อให้กำลังส่งสัญญาณบอกใบ้ด้วยบอกด้วยว่าเราคาดหวังอยากให้เขาเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ซื้อของเล่นวิทยาศาสตร์ให้ลูก ก็กำลังสื่อสารความคาดหวังและกำหนดบทบาทอย่างไม่เป็นทางการว่าอยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นอะไร การให้หนังสือพัฒนาตัวเองบางเล่มเพราะเราอาจจะกำลังบอกใบ้ให้เขาปรับปรุงตัวเรื่องอะไร ดังนั้นแล้วความไม่พอใจอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าสิ่งที่เราคาดหวังให้ผู้รับเป็น เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่หรือเป็นตัวตนที่เขาไม่ชอบใจ

  1. ของขวัญที่ดีที่สุดหน้าตาเป็นอย่างไร?

หากแบ่งประเภทของของขวัญออกโดยใช้หลักเกณฑ์ 1.) สิ่งที่คนรับจะซื้อกับไม่ซื้อ 2.) สิ่งที่คนรับอยากได้กับไม่อยากได้ จะได้ของขวัญออกเป็น 4 ประเภทได้แก่

ประเภทที่ 1 ของขวัญที่คนรับไม่อยากได้แต่ก็ซื้อ (Grocery List Gift)

ของขวัญประเภทนี้เป็นของขวัญประเภท “ของมันต้องมี” หรือเป็นของขวัญประเภทที่ใช้อยู่ประจำเป็นกิจวัตร ของขวัญกลุ่มนี้ไม่ควรจะมอบให้ โดยวิธีสังเกตว่าอะไรเป็นของประเภทนี้คือเราจะเห็นสิ่งของกลุ่มนี้อยู่ในรายการช้อปปิ้งรายสัปดาห์ รายเดือน หรือของชำประจำบ้านที่ซื้อเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต

ประเภทที่ 2 ของขวัญที่คนรับไม่อยากได้และไม่มีวันซื้อ (Recycle Gift)

ของขวัญประเภทนี้ จะเป็นของขวัญที่เมื่อได้รับมาแล้วเขาก็ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ที่ไหน จะเอาไปใช้อย่างไร อย่างมากก็จะทิ้งไป หรือนำไปมอบให้คนอื่นต่อในอนาคต พยายามหลีกเลี่ยงของขวัญเหล่านี้โดยคิดขึ้นอีกขั้นว่าถ้าเราได้รับของขวัญลักษณะเดียวกันแบบนี้มาเราจะจัดการกับของขวัญชิ้นนั้นอย่างไร

ประเภทที่ 3 ของขวัญที่คนรับอยากได้และจะซื้อ (Gamble Gift)

ของขวัญประเภทนี้ต้องระมัดระวัง เพราะอาจได้ทั้งผลดีและผลเสียในการมอบให้ เพราะสิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ้าตัวกำลังสนใจและอยากได้ เขาอาจจะมีตัวเลือกในใจอยู่หลายยี่ห้อ ทำให้เมื่อเรามอบให้เขาไปแล้ว ถ้าบังเอิญเป็นยี่ห้อที่หมายตาไว้ก็เป็นเรื่องดี แต่หากเป็นยี่ห้อที่ด้อยกว่าหรือเป็นยี่ห้อที่เขาไม่อยากได้ก็จะกลายเป็นปัญหา เพราะกลายเป็นว่าเขามีสิ่งของประเภทนี้แล้ว การจะไปซื้อยี่ห้อที่ถูกใจมาซ้ำอีกก็จะเป็นการสิ้นเปลือง จึงกลายเป็นว่าเราในฐานะผู้มอบของขวัญเป็นคนสร้างเงื่อนไขในชีวิตเขา

ประเภทที่ 4 ของขวัญที่คนรับอยากได้แต่ไม่ซื้อ (Perfect Gift)

เป็นของขวัญที่เหมาะสมที่สุดที่จะซื้อให้ ของขวัญประเภทนี้จะเป็นของขวัญที่เจ้าตัวอยากได้มาก แต่ว่าอาจจะไม่กล้าซื้อ หรืออาจจะรู้สึกผิดหากซื้อ โดยของขวัญประเภทนี้อาจไม่ต้องมีราคาแพง แต่อาจต้องใช้ความพยายามในการสืบและสังเกต ซึ่งอาจจะเป็นได้ตั้งแต่ ของสะสมตัวการ์ตูนที่เขาชอบแต่รู้สึกว่าโตแล้วไม่ควรจะซื้อ อาจจะเป็นอะไรที่ตลกๆ แต่เจ้าตัวก็มองว่าซื้อมาจะดูว่าเป็นคนไร้สาระ ตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินโปรดในวัยเด็กที่อยากดู ของขวัญประเภทนี้จะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่จะมอบให้

          ดังนั้นแล้วหากในโอกาสอันใกล้นี้คุณต้องเลือกซื้อของขวัญให้กับคนพิเศษ ให้รำลึกเสมอว่าของขวัญเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ควรเน้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดความสุขในระยะยาว ให้ด้วยความจริงใจ ไม่ต้องยึดราคาสินค้าเป็นเกณฑ์ในการเลือกเพียงอย่างเดียว แต่ให้คำนึงถึงการลงทุนลงแรงในการเลือกซื้อ ความพิถีพิถัน การวางแผนในการเลือกซื้อของขวัญ เพราะของราคาไม่แพง แต่เป็นงานแฮนด์เมด หรือประดิษฐ์ขึ้นเองด้วยความตั้งใจ อาจจะทำให้ผู้รับเกิดความประทับใจมากกว่าของขวัญราคาแพงที่หาซื้อได้ทั่วไปก็เป็นได้

 

 

 

 

 

อ้างอิง

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646122

http://www.investerest.co/attitude/the-social-psychology-of-the-gift/

https://wish.in.th/psychology-behind-choosing-gift/

https://bit.ly/3ncotkr

Related Articles

Leave a Comment