Home Society เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร! สิงคโปร์เปิดตัวโรงงานผลิต Plant-based ขนาดใหญ่แห่งแรก

เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร! สิงคโปร์เปิดตัวโรงงานผลิต Plant-based ขนาดใหญ่แห่งแรก

by Lifeelevated Admin2

เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร! สิงคโปร์เปิดตัวโรงงานผลิต Plant-based ขนาดใหญ่แห่งแรก

 

ปัจจุบันเทรนด์รักสุขภาพและการดูแลตนเองกำลังมาแรง ส่งผลให้โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) เริ่มเป็นที่นิยมในการรับประทานกันมากขึ้น โดยเดิมทีผู้คนเน้นการรับประทานพืชผักเพื่อให้ได้ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ แต่ก็มีพืชจำนวนไม่น้อยที่เป็นแหล่งของโปรตีน

ซึ่งโปรตีนจากพืชจึงเป็นแหล่งอาหารทางเลือกสำหรับคนหลายกลุ่ม ทั้งผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้ที่มีข้อจำกัดในการบริโภคเนื้อสัตว์ ไปจนถึงกลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อมที่เชื่อว่าการทำปศุสัตว์นั้นส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศ

โดยเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา Growthwell Foods บริษัท Start-up สิงคโปร์ ได้เปิดตัวโรงงานผลิต โปรตีนจากพืชแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบขนาดใหญ่แห่งแรกแดนลอดช่อง ในพื้นที่อุตสาหกรรมด้านอาหารนวัตกรรมของสิงคโปร์ JTC Food Hub @Senoko โดยโรงงานดังกล่าวสามารถผลิตสินค้าอาหาร Plant-Based ได้ 4,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งปริมาณดังกล่าวเพียงพอต่อความต้องการบริโภคโปรตีนของคนมากกว่า 100,000 คนต่อปี

และคาดว่าภายในต้นปี 2565 ผลิตภัณฑ์ Plant-Based ของ Growthwell Foods อาทิ ปลาแซลมอนที่ทำจากบุก (Konjac) และนักเก็ตไก่ที่ทำจากถั่ว Chickpeas จะเริ่มวางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Happiee! โดยราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่ประมาณ 8 เหรียญสิงคโปร์ต่อโปรตีนจากพืชสำหรับสองมื้อ

นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้จัดตั้งกองทุน Agri-Food Cluster Transformation Fund มูลค่า 60 ล้านเหรียญสิงคโปร์ กำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ Singapore Food Agency (SFA) เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการปรับปรุงระบบ และการดำเนินงานภายในฟาร์มของสิงคโปร์ โดยในเดือนเดียวกัน SFA ได้ให้เงินทุนสนับสนุนเงินกับโครงการวิจัย ด้านนวัตกรรมวิธีการผลิตอาหารแล้ว 12 โครงการ มูลค่าโดยรวมประมาณ 23 ล้านเหรียญสิงคโปร์

ด้วยการสนับสนุนดังกล่าวจะส่งผลให้สิงคโปร์ก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นของนโยบาย 30×30 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสิงคโปร์ โดยการเพิ่มศักยภาพการผลิตอาหารแบบอย่างยั่งยืนให้ได้ 30% ของความต้องการทางการบริโภคในสิงคโปร์ภายในปี 2030 และยังได้ถูก รวมเข้าในแผนพัฒนาประเทศ Singapore Green Plan 2030 อีกด้วย

 

สำคัญอย่างไร ทำไม? สิงคโปร์ต้องสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลกปี 2551 สิงคโปร์ยังไม่มีความห่วงกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากนัก โดยเห็นว่าหากสิงคโปร์สามารถขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ทุกปี ก็จะมีความมั่งคั่งและสามารถนำเข้าอาหารจากต่างประเทศได้มากขึ้นและต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดวิกฤตการเงินโลก ซึ่งประเทศผู้ผลิตอาหารหลายประเทศระงับการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรมายังสิงคโปร์ ทำให้สังคมแดนลอดช่องเกิดความกังวลอย่างยิ่งว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารเรื่อยมา จนเกิด H1N1 ซึ่งมาเลเซียประกาศระงับการส่งออกปลามายังสิงคโปร์ และล่าสุด COVID-19 ช่วงกลางปี 2563 ซึ่งสิงคโปร์ก็เผชิญปัญหาเรื่อง Supply Shock อย่างชัดเจน รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องเร่งเจรจากับต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา และวางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารอย่างจริงจัง

ด้วยความที่สิงคโปร์ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากถึงร้อยละ 90 แต่มีพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศน้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มดำเนินยุทธศาสตร์ “30 by 30” เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารคือ การผลิตอาหารภายในสิงคโปร์ให้ได้ร้อยละ 30 ของการบริโภคภายในปี 2030 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่งคงและความยืดหยุ่น (Resilience) ด้านอาหารให้แก่สิงคโปร์ในระยะยาว ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหาร เพื่อป้องกันปัญหา Supply Shock โดยการกระจายแหล่งนำเข้าอาหารให้มากที่สุด ทำให้ในปัจจุบันสิงคโปร์นำเข้าอาหารจาก 170 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ประมาณ 30 ประเทศโดยแหล่งนำเข้าอาหารที่สำคัญที่สุดของสิงคโปร์ ได้แก่

  1. มาเลเซีย (ผัก ผลไม้ เนื้อไก่ และปลา)
  2. บราซิล (เนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู
    3. ออสเตรเลีย (เนื้อวัวและเนื้อหมู)
    4. อินโดนีเซีย (เนื้อหมูและปลา)
    5. จีน (ผักและผลไม้)
    6. สหรัฐฯ(เนื้อวัวและเนื้อไก่)
    7. เวียดนาม (ปลา)
    8. แอฟริกาใต้ (ผลไม้)
    9. ไทย (ผักและข้าว)

 

การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 30 by 30         

เพื่อบรรลุเป้าหมาย 30 by 30 รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีทางอาหารและการเกษตร (Food Tech and Agri Tech) โดยเฉพาะการผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-based/cell-based/alternative proteins) และเนื้อสัตว์ทางเลือก (impossible meat/lab meat) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดพื้นที่ปศุสัตว์ในประเทศ ทั้งยังส่งเสริมการปลูกพืชและผักภายในอาคาร (Indoor Farming) ด้วยวิทยาการใหม่ๆ เป็นต้น

 

ตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based คือโอกาสใหม่ของ SME ทั่วโลก เนื่องจากเป็นเทรนด์อาหารสำหรับอนาคต ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปิดใจทดลองสินค้าแบรนด์ใหม่ โดยข้อมูลจาก EUROMONITOR เปิดเผยว่า มูลค่าตลาด Plant-based Foods ทั่วโลกในปี 2019 มีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตเฉลี่ย 105% โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดในปี 2024 จะอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นโอกาสดีของ SME ไทย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Plant-based ตอบโจทย์ตลาดกลุ่มนี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้พร้อมกับเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประเทศไทยอีกด้วย

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

 

Related Articles

Leave a Comment