Home Inspiration Success ด้วยปัญญา : รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่คนอ่อนแอ

Success ด้วยปัญญา : รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่คนอ่อนแอ

by Lifeelevated Admin1

Success ด้วยปัญญา : รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่คนอ่อนแอ

เราควรจะพูดถึงความสำเร็จของตัวเองบ่อยแค่ไหน เราควรจะมั่นใจในความสามารถเรามากไหม หรือจริงๆ แล้วเราไม่ควรจะพูดออกไป หรือควรจะคิดถ่อมตัวเองเข้าไว้ว่าเราไม่เก่งและไม่มีความสามารถ อะไรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราก้าวไปได้ไกล มีคนอยากเข้าใกล้ ทำงานด้วยแล้วสบายใจ อยู่ในสังคมเราควรต้องอ่อนน้อมถ่อมตนแค่ไหน? อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่อ่อนโยน ไม่ใช่อ่อนด้อย และไม่ใช่อ่อนแอ

อ่อนน้อมถ่อมตน คืออะไร?  

การอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) คือ การที่เราสนใจจดจ่อกับตัวเองน้อย เต็มใจที่จะมองตัวเองและรับรู้ตามความเป็นจริง ไม่มั่นใจหรือโอ้อวดเกินไป แต่ก็ไม่ลดคุณค่าน้อยเกินในการเป็นตัวเราและกับความสำเร็จที่เราได้มา โดยยอมรับว่าแต่ละชีวิตก็มีข้อจำกัด ความไม่สมบูรณ์ สามารถผิดพลาดได้ และแต่ละคนก็ต่างมีช่องว่างของความไม่รู้ เราเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสังคมที่มีคนอีกมาก เราคือจุดเล็กๆ ของระบบที่ยิ่งใหญ่ เราสามารถที่จะชื่นชม ให้คุณค่า และเคารพกับสิ่งต่างๆ ในแบบที่มันเป็น

อ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นการคิดถึงตัวตนตัวเองน้อย แต่ก็ไม่ได้มองว่าตัวเองด้อย (Humility is not thinking less of yourself, but thinking of yourself less) การอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้เรายิ่งใหญ่ มันคือการยอมรับว่าเราเองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราจะเปิดรับต่อการเรียนรู้ รับรู้ว่าเราก็ล้มเหลวได้

อ่อนน้อมถ่อมตนคือการเจือปนด้วยความสงสัย

          ความสงสัย (doubt) เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเมื่อเรามั่นใจในตัวเองมากเกินไป การสงสัยในความสามารถ เริ่มไม่แน่ใจในสิ่งที่เรารู้ และไม่ปักใจหรือหยิ่งผยองว่าเราคนเดียวเท่านั้นที่จะสามารถทำได้อาจจะมีใครต่อใครเก่งกว่ามีความสามารถมากกว่าอยู่ จะทำให้เราดึงตัวเองกลับมาตรวจสอบและทบทวน การอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นการใช้ประโยชน์ของความความสงสัยให้ถูกจังหวะ แต่ไม่ได้สงสัยมากเกินไปจนทำให้ไม่เหลือความมั่นใจ

อ่อนน้อมถ่อมตนแบบมั่นใจ

อ่อนน้อมถ่อมตนแบบมั่นใจ (confident humility) อ่อนน้อมถ่อมตน กับ มั่นใจ ดูเหมือนจะเป็นคำที่อยู่ตรงข้ามกัน บางคนอาจจะรู้สึกว่าความมั่นใจคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างความกลัวและความเย่อหยิ่งจองหอง ถ้าไม่มั่นใจเลยก็จะกลายเป็นความกลัวไม่กล้าทำ มั่นใจมากไปก็กลายเป็นจองหองโอ้อวดบุ่มบ่ามทำไปโดยไม่ฟังเสียงใคร

ความมั่นใจที่กำลังดี จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนผสมอยู่ เราจะมั่นใจว่าจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ แต่ก็ยังสงสัยในความรู้ที่มีและวิธีที่ใช้ ซึ่งนั่นจะทำให้เราก้าวต่อไปแบบระมัดระวังและเปิดรับเพื่อเรียนรู้ ความมั่นใจที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจะทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองมากและอาจพึ่งพาแต่ตัวเอง แต่เมื่อมีความอ่อนน้อมถ่อมตนมาผสมทำให้เรายอมรับว่าบางทีการขอความช่วยเหลือบ้างก็เป็นเรื่องสำคัญ ในความสำเร็จและความรู้ที่ดีควรจะได้รับคำแนะนำหรือมาจากคนอื่นๆ ด้วย

ผู้นำที่ดีจะถ่อมตนแบบมั่นใจ  

หากเราสังเกตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ การกระทำของเขาจะไม่ได้ฝักใฝ่ในอำนาจ มองตัวเองเป็นใหญ่ แต่เขาจะตัดสินใจทำอะไรด้วยความยุติธรรม มีความเมตตา อดทน เคารพต่อผู้คนและความคิดเห็น เขาจะมั่นใจในความสามารถที่จะตัดสินใจได้ถูก แต่ไม่ละเลยว่าการจะตัดสินใจได้ถูกนั้นต้องมีคนอื่นร่วมด้วย เขามักจะรู้ว่ายังไม่รู้อะไร แต่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำ ศรัทธาในจุดแข็งของตนเองที่มี แต่ก็รับรู้ว่าจุดอ่อนที่ยังไม่ดีคืออะไร ยอมรับว่ายังไม่มีความรู้ที่จำเป็น แต่ก็ชัดเจนว่าจะไปหาความรู้นั้นได้จากไหน

Adam Grant นักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือ Think Again จึงได้อธิบายถึงความถ่อมตนอย่างมั่นใจ (confident humility) นี้ว่า “มันคือการเชื่อมั่นศรัทธาในความสามารถของตน แต่ก็ยังยอมรับว่าบางทีเราก็อาจจะไม่ได้รู้คำตอบที่ถูกต้องที่สุด และเราอาจจะไม่ได้กำลังเข้าใจปัญหาถูกจุด ซึ่งนั่นทำให้เรามีความสงสัยเพียงพอที่จะตรวจสอบความรู้ความเข้าใจเก่าๆ และมั่นใจมากพอที่จะวิ่งเข้าหาความเข้าใจใหม่ๆ ให้ลึกซึ้งขึ้น”

จงอ่อนน้อมถ่อมตนราวกับลำไผ่ ที่ยิ่งสูงเท่าไหร่ ยิ่งโน้มลงได้ต่ำยิ่งขึ้นเท่านั้น

การอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างถูกเวลา ทำให้เราเรียนรู้อะไรได้อย่างหลากหลาย ทำให้เราสามารถก้าวต่อไปในความท้าทาย และความไม่แน่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมั่นใจหรือเชื่อมั่นมากเกินไป อาจทำให้เราปิดหูปิดตาไม่ได้เห็นในสิ่งที่ควรเห็น ไม่ได้ยินในสิ่งที่ควรจะได้ยิน และนั่นคือการพาตัวเองไปสู่หายนะ

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: www.lifeelevated.club/

Facebook: Life Elevated ชีวิตยกระดับ

Twitter: @lifeelevatedCLB

Instagram: @lifeelevatedclub

Line OA: @lifeelevatedclub

Blockdit: Lifeelevatedclub

Youtube: Life Elevated Club

Related Articles

Leave a Comment