Home Body หายสงสัย? “นั่งสมาธิ” กับ “วิปัสสนา” แตกต่างกันอย่างไร

หายสงสัย? “นั่งสมาธิ” กับ “วิปัสสนา” แตกต่างกันอย่างไร

by Lifeelevated Admin1

การจะทำความเข้าใจในเรื่องความแตกต่างระว่างสมาธิกับวิปัสสนานั้นไม่ยาก พุทธศาสนามีกิจให้เราทำอย่างไรบ้าง มีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ คันถธุระ กับวิปัสสนาธุระ

          คันถธุระ หมายถึง ธุระที่เราจะต้องศึกษาเล่าเรียนความเป็นจริง ศึกษาเล่าเรียนถึงหลักที่จะทำให้ชีวิตของเรานั้นเป็นไปในทางดี ศึกษาเล่าเรียนถึงเหตุถึงผลนั่นเอง ว่าเมื่อสร้างเหตุอย่างไหน จะได้รับผลอย่างไร ผลที่ปรากฏขึ้นมานี้มีเหตุมาจากไหน

          วิปัสสนาธุระ หมายถึง ธุระที่จะต้องทำตัวเองให้มีปัญญา และหลักในการปฏิบัติในพุทธศาสนามี 2 วิธี คือ สมถกรรมฐาน กับ วิปัสสนากรรมฐาน ทั้ง 2 อย่างนี้ไม่ใช่การกระทำอย่างเดียวกัน

          สมถกรรมฐาน หมายถึง การทำสมาธิ เช่น นั่งเอาขาข้างขวาทับขาข้างซ้าย เอามือข้างขวาทับมือข้างซ้าย แล้วนั่งตัวตรงกำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออก หาคำภาวนามาเพื่อท่องบ่นอยู่กับอารมณ์นั้น ให้จิตไม่คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น จิตก็จะมีสมาธิในอารมณ์ที่ต้องการ

ฉะนั้น สมาธิคือการที่จิตกำหนดอยู่ในอารมณ์ๆ เดียว จะหาอะไรมากำหนดก็ได้เพื่อให้จิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้น เช่น ภาวนาว่า “พุทโธ” “สัมมาอรหัง” หรือกสิณมีถึง 40 อย่างที่เราจะสามารถนำมาใช้ได้ จิตจะได้กำหนดอยู่กับสิ่งนั้น

ถ้าจะอธิบายให้ง่ายออกไปอีกนิดหนึ่ง เช่น เราหยิบกระบวยตักน้ำขึ้นมาจ้องแล้วก็ท่องว่า “นี่คือกระบวยตักน้ำ” นี่ก็เป็นสมถกรรมฐาน

หรือการอ่านหนังสือด้วยความสนใจอยู่กับตัวสระพยัญชนะนั้น ไม่คิดไปในเรื่องอื่น หรือ เช่นขณะนี้เรากำลังตั้งใจฟัง ก็เป็นสมถกรรมฐาน

ฉะนั้นคำว่า สมถกรรมฐานคือการทำสมาธิ เกิดได้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก้ม เงย เหยียด คู้ อ่าน ดู หรือฟัง ทำให้เกิดความตั้งมั่นในอารมณ์ และเราก็รู้อารมณ์นั้นด้วยความเข้าใจด้วยความมั่นคง

          วิปัสสนากรรมฐาน เป็นชื่อของปัญญาเป็นการกระทำกรรมชนิดหนึ่ง เรียกว่ากรรมสกตาปัญญา คือ การกระทำกรรมอันประกอบไปด้วยปัญญานั่นเอง เป็นการกระทำเพื่อเข้าไปรู้ในความจริงที่เผชิญอยู่ที่ปัจจุบัน เราต้องเห็นที่ปัจจุบัน

 

 “การทำจิตให้ใจบริสุทธิ์” นั้นเราต้องอาศัยทางพุทธศาสนาที่เราเรียกว่าการเจริญ “กรรมฐาน” มี 2 ประเภท คือ “กรรม” แปลว่าการกระทำ “ฐาน” แปลว่า ที่ตั้งของสติ

          1.สมถกรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายที่ให้ใจสงบ จิตสงบ บริสุทธิ์ชั่วขณะ คือ ใจที่อบรมในทางสมถะแล้ว จะเกิดนิ่ง และเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น การสวดมนต์ การไหว้พระ การนั่ง การเดินจงกรม เป็นต้น มี 7 หมวด ได้แก่ อสุภะ 10 อนุสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปธรรม เป็นต้น

  1. วิปัสสนากรรมฐานกรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้เกิดปัญญา เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้จิตบริสุทธิ์ตลอดไป หมายความว่า เห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์และเห็นมรรคผล นิพพาน มีอารมณ์อยู่กับวิปัสสนาภูมิ 6 อย่าง คือ ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจจ์ 4 ปฏิจจสมุปบาท 12

กรรมฐาน 2 อย่างนี้ต่างกันตรงที่ “อารมณ์สมถกรรมฐาน” เอา “บัญญัติ” เป็นอารมณ์ ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน เอา “รูปนาม” เป็นอารมณ์

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า…ชีวิตมันคืออะไรแน่? ปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความเคยชินของมัน ปีแล้วปีเล่ามันมีแต่ความมืดบอด หรือเป็นเรื่องของการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชินในตัวเรานั้น เรามี “ของดี” ที่มี “คุณค่า” อยู่แล้ว คือ “สติ สัมปชัญญะ” แต่เรานำออกมาใช้น้อยมาก ทั้งที่เป็นของคุณค่าแก่ชีวิต หาประมาณมิได้เป็นการระดมเอาสติทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์…หรือเป็น…การเชิญเอา “สติ” ที่ถูกทอดทิ้งมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อ “สติ” ขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว “จิต” ก็จะคลานมาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้า “สติ”… “สติ” จะควบคุม “จิต” ไม่ให้แส่ออกไปจนอารมณ์ (ที่เกิดจาก…ใจ) ต่างๆ ภายนอกในที่สุด “จิต” ก็จะค่อยๆ คุ้นเคยกับ… “การสงบอยู่อารมณ์เดียว”… “อารมณ์หนึ่งเดียว”… “อารมณ์นิ่ง”…ไม่วอกแวก เมื่อ “จิต” สงบตั้งมั่นดีแล้ว (แปลว่าข้อมูลเปรอะๆ ของซอฟต์แวร์ ถูกลบทิ้งจนว่างเปล่า กล่าวคือ ว่างเปล่า การรู้ตามความเป็น “จริง” ก็จะเป็นผลผลิตตามมา เมื่อนั้นแหละ เราก็จะทราบได้ว่า “ความทุกข์มันมาจากไหน?” เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละ คือ…ผลงานของ “สติ”

ภายหลังการได้ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว “จิตใจ” ของผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับ “สัจจะ” แห่งสภาวธรรมต่างๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันล้ำค่าของ “สติสัมปชัญญะ” จะทำให้เราเห็นอย่างชัดแจ๋ว ความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราของท่านทางช่องทวาร 6 ช่องทวาร 6 นั้น

          นั่นแหละที่เป็น “ต้นตอ ท่อต่อ” หรือ “บ่อเกิด” สิ่งเหล่านั้นคือ “ขันธ์ 5 จิต กิเลส”

.

.

ติดตาม Life Elevated ได้ที่

Website: https://www.lifeelevated.club

Facebook: https://www.facebook.com/lifeelevatedclub

Twitter: https://twitter.com/lifeelevatedCLB

Instagram: http://instagram.com/lifeelevatedclub

Line OA: https://lin.ee/fBBFzWx

Blockdit: https://www.blockdit.com/lifeelevatedclub

Youtube: https://www.youtube.com/lifeelevatedclub

Pinterest: https://www.pinterest.com/lifeelevatedclub/

Blog สสส.: https://www.thaihealth.or.th/blog/allblog/1285/Life+Elevated+Club/

Related Articles

Leave a Comment